ข่าวประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' กางภารกิจ ปฏิรูปอุตฯ-ยุติวงจรกากพิษ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย ที่เผชิญปัญหาโครงสร้างการผลิตที่อาจไม่ตอบโจทย์โลก ความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยลดลง และปัญหากากพิษที่กระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ว่า ได้มีการประกาศเดินหน้า 3 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย 1. การกำจัดขยะมลพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชนหลายที่หลายจุด 2. เดินหน้าปกป้องอุตสาหกรรมจากพฤติกรรมการบิดเบือนตลาด การทุ่มตลาด เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งเซฟอุตสาหกรรมไทย ต้องช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ให้ทำมาค้าขายด้วยระบบโปร่งใส และ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรมในปัจจุบัน เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับปัญหามลพิษ ผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ควรเป็นงบกลางจากเก็บเงินภาษีประชาชนไปจัดการปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ ระบบคุณต้องถูกต้อง ต้องมีเงินก้อนหนึ่งที่เป็นหลักประกัน ใช้เยียวยาประชาชนได้ทันทีกรณีผู้ประกอบการสร้างความเสียหายต่อภาคประชาชน งบประมาณส่วนนี้จะอยู่ในกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาประมาณ 4 เดือน ใช้วิธีออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่งแต่ทุกอย่างมีซิงค์กันหมด เมื่อเกิดผลสำเร็จจะทำให้เกิดระบบใหม่ขึ้น ในเรื่องกากอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ไม่ต้องไปยืมกฎหมายคนอื่นมาใช้ ส่วนโทษสำหรับคนกระทำความผิด โทษปรับต้องอัพเดต โทษหนักขึ้น ค่าปรับเพิ่มขึ้น นำเงินค่าปรับมาใส่กองทุน เพื่อเป็นหลักประกันใช้เยียวยาผู้เสียหาย ไม่ต้องรอของบกลาง หรือไม่ต้องรอฟ้องศาล เพราะกระบวนการทางศาลกว่าจะเสร็จ คนเจ็บหรือตายกันก่อน แบบนี้ไม่ถูกต้อง สำหรับกองทุนไม่จำกัดแค่การเยียวยา อีกภารกิจคือการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก ให้ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ Digital transformation หรือการ Go Green จะทำยังไงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งเซ็กเตอร์เป้าหมาย คือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การป้องกันประเทศ และเกษตรมูลค่าสูง หรือ BCG และอุตสาหกรรมที่ต้องดูแลคือ เหล็ก เพราะเป็นฐานของทุกอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ มองแค่ดึงโรงงานขนาดใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามา แต่มองความพร้อมเอสเอ็มอีไทยด้วย ถ้าเอสเอ็มอีไม่พร้อม สุดท้ายโอกาสก็ไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มโรงงานใหญ่อยู่ดี เกิดปัญหาไม่จ้างงานคนไทย แรงงานไทยต้องมีทักษะตอบโจทย์อุตสาหกรรม โดยจะนำงบประมาณจากกองทุนมาพัฒนาทักษะของเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ในการพัฒนาเอสเอ็มอีจะใช้กลไกของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าสนับสนุน ขณะนี้ได้คุยกับ กนอ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.ผนึกกำลังปิ่นทอง ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฟส 7 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการกนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ร่วมกับ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) บนพื้นที่กว่า 1,059 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งการพัฒนาโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรม โดยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมสะอาด รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI และ EEC ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค คาดว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจาก นักลงทุน รวมทั้งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค กล่าวว่า บริษัท ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ซึ่งปัจจุบันเรามีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. แล้ว 6 โครงการ การลงนามฯ ครั้งนี้ เป็นการร่วมดำเนินงานโครงการที่ 7 บนเนื้อที่ประมาณ 1,059 ไร่ เมื่อรวมพื้นที่ทุกโครงการฯ แล้วเรามีพื้นที่กว่า 86,000 ไร่ โดยตลอดระยะเวลา 28 ปี บริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และได้รับความร่วมมือจาก กนอ. เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริหารจัดการในการอนุมัติ อนุญาต ด้านระบบสาธารณูปโภค และ ด้านการบริหารจัดการนิคมฯ สู่ความยั่งยืนบริษัทฯ หวังว่าในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนและเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินการกับ กนอ. ต่อไปเพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) มีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 2,205 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 42,360 ล้านบาท

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. ไทยฐานผลิตยางรถยนต์ คอนติเนนทอลลงทุนเพิ่ม 1.34 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 13,411 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง เพื่อขยายกำลังการผลิตยางล้อ สำหรับยานพาหนะจากเดิม 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี และจะจ้างงานในพื้นที่เพิ่มเติมกว่า 600 คน เมื่อรวมกับการจ้างงานเดิม 900 คน จะเป็นทั้งหมดกว่า 1,500 คน โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศทั้งสิ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน สำหรับคอนติเนนทอล กรุ๊ป ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจยางรถยนต์ของบริษัท สามารถสร้างรายได้กว่า 14,000 ล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล และเป็นโรงงานที่สามารถบรรลุมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับสูงที่สุด โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการขนย้ายวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งได้ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 6.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 13% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงาน

อย่างไรก็ตาม บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส ตัดสินใจขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยโรงงานในจังหวัดระยองจะเป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อจำหน่ายยางล้อให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มยางรถยนต์เกรดพรีเมียม เช่น รุ่น MaxContact MC7 และยางสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการยางล้อสมรรถนะสูงและมีความทนทานเป็นพิเศษ เพื่อรองรับระบบส่งกำลังและอัตราเร่งที่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน โดยราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2 - 3 เท่า ทั้งนี้ การขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกติกาใหม่ของโลก เช่น EUDR จะต้องตรวจสอบย้อน/กลับไปถึงการทำสวนยาง ที่ไม่ทำลายป่า เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน โดยไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ การขยายฐานผลิตยางรถยนต์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบยางธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว ยังจะช่วยเสริมซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a white circle in the center

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาติอินเดียตรึงดอกเบี้ยที่ 6.50% ตามคาด ปรับจุดยืนสู่นโยบายเป็นกลาง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2567)

ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เปิดเผยว่า ได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 6.50% ในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายแต่ได้ปรับจุดยืนไปสู่นโยบายที่ "เป็นกลาง" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในอนาคต เนื่องจากมีสัญญาณเริ่มต้นที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก RBI จำนวน 3 คน และสมาชิกภายนอกอีก 3 คน ลงมติ 5 ต่อ 6 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) ไว้ที่ระดับ 6.50% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการเปลี่ยนจุดยืนนโยบายจาก "การถอนมาตรการผ่อนคลาย" ไปเป็นจุดยืนนโยบายที่ "เป็นกลาง" แต่ยืนยันว่าจะยังคงมุ่งเน้นการปรับอัตราเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 80% จาก 76 คนที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า RBI จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)