ข่าวประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เติมทุนเอสเอ็มอี ส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ให้ความสำคัญ "Save อุตสาหกรรมไทย" เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งบทบาทของ ธพว. โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ที่ให้ความสำคัญ "Save อุตสาหกรรมไทย" อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะได้เยี่ยมชมร้านกวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie)ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็กให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ ทั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากลมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals : SDGs)

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.อัพเป้าเอฟดีไอ 27% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ทันต่อความต้องการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2-3 แสนไร่ในอนาคต เพราะการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต้องใช้เวลา หากล่าช้าจะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเอฟดีไอให้ได้ 27% จากปัจจุบัน 24% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทต่อปีในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ตั้งเป้ายอดให้เช่าพื้นที่รวม 3,000-4,000 ไร่ จากพื้นที่ที่ยังมีอยู่ 25,215 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดว่าจะมีความต้องการจากทั้งนักลงทุนจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งปัจจุบันมีนิคมรองรับการลงทุน 69 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างขอขยายพื้นที่ในอีอีซีอีก 40 โครงการ

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

 

3. หอการค้าลุ้นส่งออกอาหารโกย 1.7 ล้านล. (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง (สิงหาคม - ธันวาคม) ปี 2567 ว่า คาดว่าจะมีมูลค่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมส่งออกอาหารปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 1.55 ล้านล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินค้าอาหารยังเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาวะอุตสาหกรรมโลกเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตโลกอยู่ในภาวะขยายตัว รวมถึงเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการทำกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) ปี 2567 สินค้าอาหารส่งออกของไทยมีมูลค่า 998,076 ล้านล้านบาท ขยายตัว 7.3% แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 508,033 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.7% และสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร 490,044 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.9% สินค้าส่งออกดาวเด่นคือ ข้าว ขยายตัว 51% กาแฟ ขยายตัว 213% เป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 13.9% เนื้อและส่วนต่างๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ ขยายตัว 3.8% สิ่งปรุงรสอาหารขยายตัว 16.7% นมและผลิตภัณฑ์ขยายตัว 26.6% หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสมขยายตัว 3.6% และโกโก้และของปรุงแต่งขยายตัว 13%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งออกอาหารยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาสงครามอิสราเอล-ฮามาส และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อ, การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้, ต้นทุนค่าระวางเรือที่ยังทรงตัวสูง, ปัญหาสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดในไทยและแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ, ภัยธรรมชาติ และการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วโดยภายใน 1 เดือนเงินบาทแข็งค่า 7-8% ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าที่อื่นที่ถูกกว่าไทย จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกไปอย่างถาวรหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่แก้ปัญหา นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกเพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาวเน้นให้ไทยเป็น Trading Nation รวมถึงแก้ปัญหาสินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาตีตลาดเอสเอ็มอีไทย

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a white circle in the middle

Description automatically generated

 

4. อินเดียเผยดัชนี CPI +5.49% เดือนก.ย. สูงสุดรอบ 9 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2567)

กระทรวงสถิติของอินเดีย เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 5.49% ในเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.04% หลังจากแตะระดับ 3.65% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ดัชนี CPI ที่พุ่งขึ้น 5.49% ในเดือนกันยายน ถือเป็นการดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งระดับดังกล่าวนับเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะกลางของธนาคารกลางอินเดีย ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของดัชนี CPI ในเดือนกันยายน ได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาผัก รวมทั้งเกิดจากการเปรียบเทียบกับฐานเงินเฟ้อในระดับต่ำของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI ดังกล่าวยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดียที่ระดับ 2-6%                          

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)