ข่าวประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person smiling at a microphone

Description automatically generated

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. วาง 55 มาตรฐานใหม่อุตฯ เพื่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ New S-Curve ที่ยั่งยืน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งการสร้างความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องปฏิบัติตามกติกาการค้าสากลที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลได้เดินหน้าสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมได้ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 ที่กำหนดให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ (net zero) ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้นๆ ของอาเซียน และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่มีจุดแข็งด้านคุณภาพการรักษาและค่ารักษาพยาบาลส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรฐานที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเพิ่มอีก 55 มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ออกมาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม New S-curve เพิ่มอีก 55 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มาตรฐานที่ใช้ในการรับรองหน่วยรับรอง 7 มาตรฐาน 2) มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก 6 มาตรฐาน 3) มาตรฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8 มาตรฐาน 4) มาตรฐานการแพทย์และ สุขภาพครบวงจร 4 มาตรฐาน 5) มาตรฐานเมืองอัจฉริยะ 3 มาตรฐาน 6) มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 มาตรฐาน 7) มาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัล 2 มาตรฐาน 8) มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพของ องค์กร 11 มาตรฐาน 9) มาตรฐานเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่า สูงและการท่องเที่ยวเน้นคุณค่า 2 มาตรฐาน และ 10) มาตรฐานอื่นๆ เช่น การยศาสตร์ ธรรมาภิบาล 9 มาตรฐาน โดย สมอ. จะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว เพื่อพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีการค้าสากล

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

2. เจาะตลาดเมืองรอง (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าและแนวโน้มของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง (อาหารสุนัขหรือแมว พิกัด HS Code 230910) ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออก สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 4 ของโลก มีส่วนแบ่งร้อยละ 8.39 ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก รองจากเยอรมนี (ร้อยละ 13.07) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 9.81) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 9.77) ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเป็นตลาดศักยภาพที่ไทยน่าจะมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยในปี 2566 จีนนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทย เป็นอันดับที่ 3 ส่วนแบ่งร้อยละ 8.02 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 65.66 และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีส่วนแบ่งร้อยละ 13.34 โดยมณฑลเหลียวหนิง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และติด 1 ใน 10 อันดับของมณฑลที่มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดย สุนัขและแมว ร้อยละ 70 ของตลาด สัตว์เลี้ยงในจีนมาจากมณฑลเหลียวหนิง มีเมืองอันซาน (Anshan) เมืองระดับที่สามในเหลียวหนิง เป็นเมืองอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่สำคัญและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้เพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงของจีนมักนิยมใช้อาหารสัตว์นำเข้าคุณภาพสูง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและรูปลักษณ์ที่ดีของสัตว์เลี้ยง ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าจากต่างประเทศสามารถเติบโตในจีน มีดังนี้ (1) สินค้าต้องวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ/ไม่ขาดตลาด (2) อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีความสดใหม่ ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับวันหมดอายุ (3) ต้องมีการควบคุมราคาไม่ให้แตกต่างกันมากในแต่ละช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีนมีการแข่งขันกันสูงและรุนแรง และ(4) บรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีสีสันสวยงามและสะดุดตา รวมทั้งควรมีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม สำหรับจีนเป็นตลาดศักยภาพที่น่าสนใจสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยควรศึกษารสนิยม/พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐาน และความแตกต่างของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยทำให้อาหารสัตว์เลี้ยงไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร

กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 

3. หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2567)

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม - กันยายน) สามารถช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เข้าถึงระบบสินเชื่อ 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท มีผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อย สัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง แบ่งเป็นโครงการตามมาตรการรัฐ 16,942 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ 65,356 ราย โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วยได้ 1,543 ราย โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วยได้ 4,255 ราย สำหรับผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการพีจีเอส 11 บสย. เอสเอ็มอี ยั่งยืน ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือ ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 27.78% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.98% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 9.87%

อย่างไรก็ตาม บสย. ได้ให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินมีผู้ใช้บริการรวม 21,737 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 6,746 ราย และลงทะเบียนเข้าอบรม 14,991 ราย โดยมีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ 14.92% นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ บสย. พร้อมช่วยมาตรการ 4 สี ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า ช่วยตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0% โดยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย หรือสีเขียว สูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน หรือสีเหลือง 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หรือสีม่วง 7%

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานญี่ปุ่นเดือนส.ค. ร่วงเกินคาด 1.9% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2567)

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ลดลง 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.1% ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า โดยไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสำหรับการต่อเรือและซ่อมแซม รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มผันผวนสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานลดลง 3.4% ในเดือนสิงหาคม โดยสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโต 3.6%

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตามภาคส่วน ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัวลง 2.5% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ส่วนยอดสั่งซื้อจากภาคบริการและอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผลิตนั้น ดิ่งลงถึง 7.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ทางด้านสำนักงานฯ ยังคงมุมมองต่อสถานการณ์การสั่งซื้อเครื่องจักรเช่นเดิม โดยระบุว่าแนวโน้มการฟื้นตัวกำลังสะดุดชั่วคราว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)