ข่าวประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk with a microphone

Description automatically generated

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ

รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

1. 9 เดือนแรกปีนี้แห่ขอตั้งนิคมฯ 11 แห่ง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน) มีผู้ประกอบการขอจัดตั้งนิคมฯ แห่งใหม่ รวม 11 นิคมฯ รวมพื้นที่ 8,943 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กนอ. พิจารณาอนุมัติ อาทิ 1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8 ที่เป็นการจัดตั้งใหม่) พื้นที่ 1,101 ไร่ 2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จังหวัดชลบุรี (ส่วนขยาย) พื้นที่ 697 ไร่ และ 3. โครงการนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ 2 (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ 1,302 ไร่ รวม 3 นิคมฯมีพื้นที่รวม 5,305 ไร่ หากเปิดดำเนินการได้ จะก่อให้เกิดมูลค่าลงทุน 480,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ล่าสุด กนอ.ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,059 ไร่ โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งนิคมฯ ปิ่นทอง ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ กนอ. ถือเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ขนส่ง, อุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของนิคมฯ แห่งนี้ มั่นใจว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเพราะนิคมฯปิ่นทองโครงการต่างๆ ก่อนหน้านี้ถือว่ามีศักยภาพและประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

2. ผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์ต้องปรับตัว คุมก๊าซเรือนกระจกทำธุรกิจยั่งยืนรับเทรนด์สีเขียว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจ สำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆ ของอุปกรณ์ไฟฟ้า มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Precedence Research ผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ทั่วโลก มีมูลค่า 868,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 5.8% ต่อปี จนมีมูลค่า 1,525,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2033 จากอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เติบโตต่อเนื่อง เพราะแผงวงจรพิมพ์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ในยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของไทย พบว่า เป็นประเทศเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิต PCB ระดับโลก เพราะปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน    ทำให้กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ และไทยยังมีความพร้อมในหลายด้าน อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และค่าแรงที่ไม่สูงมาก แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทั้งการคมนาคมและโทรคมนาคม ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำมากกว่า 20 บริษัท ได้ประกาศแผนการลงทุนการผลิตในเมืองไทย สำหรับการย้ายฐานการผลิต PCB มาที่อาเซียน และไทย ไม่ได้นำพาแค่โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ในการเข้าเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตระดับโลก แต่ยังมาพร้อมกับการบังคับใช้ข้อกำหนดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เนื่องจากกระแสสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝั่งผู้บริโภค เช่น การแยกขยะและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสีเขียวต่างๆ แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ ภาคการเงินและภาคธุรกิจ เห็นได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักของ ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการแผงวงจรพิมพ์ไทย ควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรการเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักของ ESG ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของโลกในยุคนี้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัท และสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซัพพลายเออร์ของบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลและการให้ความรู้ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน

 

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนาวา จันทนสุรคน

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. ผลจากน้ำท่วม-หนี้ครัวเรือนกดดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ กันยายนร่วง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลง จาก 87.7 ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีปัจจัยด้านลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ของประชาชน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากแรงกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนก็ยังคงชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในประเทศช่วง 8 เดือน (มกราคม -สิงหาคม 2567) ลดลง 24% และลดลง 11% ช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดย ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 63.31% ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 33.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเดือนกันยายน 2567 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00 ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือน ข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการ 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การ ขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วง High Season และได้รับผลบวกจากมาตรการ ส่งเสริมท่องเที่ยวภาครัฐ อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่งผลดีต่อการ ส่งออกสินค้าของไทยในสินค้าปิโตรเคมี ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาค การท่องเที่ยว การส่งออก ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการ ยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น กระทบต่อวัตถุดิบในภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ เป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าพุ่ง 14.4% ทะลุ 3.11 ล้านล้านเยนในครึ่งแรกของปีงบฯ 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2567)

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดเดือนกันยายน ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 14.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 3.11   ล้านล้านเยน (2.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สาเหตุหลักมาจากเงินเยนอ่อนค่า ทำให้มูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นแม้การส่งออกจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดส่งออกพุ่งขึ้น 6.6% แตะระดับ 53.55 ล้านล้านเยน โดยได้แรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวงการชิปที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนยอดนำเข้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยขยับขึ้น 7.0% มาอยู่ที่ 56.66 ล้านล้านเยน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการนำเข้าคอมพิวเตอร์และยาจากสหรัฐฯ โดยรายงานเบื้องต้นจากกระทรวงฯ เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 4.30 ล้านล้านเยน แต่กลับขาดดุลการค้ากับจีน 3.06 ล้านล้านเยน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เงินเยนอ่อนค่าลงถึง 9.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนเมษายน - กันยายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้เงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากร ต้องแบกรับต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้บริษัทส่งออกของญี่ปุ่นได้กำไรเพิ่มขึ้นเมื่อนำเงินตราต่างประเทศแลกกลับเข้ามาเป็นเงินเยน ทั้งนี้ หากนับเฉพาะเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว ญี่ปุ่นยังคงขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยขาดดุล 2.943 แสนล้านเยน ส่วนการส่งออกหดตัวลง 1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 9.04 ล้านล้านเยน ในขณะที่การนำเข้ากลับเติบโตขึ้น 2.1% แตะระดับ 9.33 ล้านล้านเยน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)