ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. เคาะ 2 มาตรการช่วยชาวไร่ จูงใจตัดอ้อยสดลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2567)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ครั้งที่ 5/2567 ว่า ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม" ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ปริมาณน้ำตาลตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้เกิดรายได้และสร้างมูลค่าให้กับระบบมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยที่ประชุม กอน. มีมติเห็นชอบตามที่ สอน. เสนอ โดยมีมาตรการสำคัญ 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และมาตรการเพิ่มรายได้จากใบ และยอดอ้อย การให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ สำหรับมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในอัตรา 69 บาทต่อตัน ส่วนมาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อยเป็นมาตรการใหม่ โดยจะเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยอีกตันละ 300 บาท จากราคาตลาดปัจจุบันที่มีการรับซื้ออยู่ที่ตันละ 900 บาท ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้เก็บเกี่ยวอ้อยสดที่มีการขายใบและยอดอ้อยได้อีก 51 บาทต่อตันอ้อย ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำให้ใบและยอดอ้อยมีมูลค่าเพิ่มและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยยกระดับการดูแล รักษาคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการลดฝุ่น PM2.5 และร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในการก้าวสู่การเป็น Zero Wastes
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม จะออกนโยบายเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบที่เป็นมาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร (In Kind) และในรูปแบบเงินช่วยเหลือ (In Cash) เพื่อสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานให้มีรายได้เพิ่มและเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยสดสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/2568 ต่อไป
นายภาสกร ชัยรัตน์
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. หลากปัจจัยลบรุมเร้าฉุดดัชนี MPI ก.ย. ติดลบ 3.51% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 ติดลบ 3.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.47% ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 ติดลบเฉลี่ย 1.23% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 ติดลบเฉลี่ย 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอหนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูงนอกจากนั้น ต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ส่วน การส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 2.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 7.05% ทั้งนี้ ทางด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน 3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนา เพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (New skill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก
นายสนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
3. กกร.คาด GDP ไทยปี 68 โต 3.5-4% (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2567)
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวในงานเสวนา "เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า เดิมคาดการณ์ในปี 2567 ไทยมีตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) อยู่ที่ 3% ถ้าไม่เกิดปัญหาอุทกภัย ซึ่งในไตรมาส 4 ปีนี้ ความเชื่อมั่นกลับคืนมา และมีกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบาง แต่เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วม ทำให้ GDP ปีนี้อยู่ที่ 2.6-2.7% ทั้งนี้ กกร.ได้นำเสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีปัญหาการชำระหนี้ทำให้ถูกยึดรถกระบะที่ใช้ในการทำมาหากิน ทำอย่างไรที่ภาครัฐจะช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ให้ถูกยึดรถกระบะ โดยนายกฯ รับปากจะนำไปหารือใน ครม. พร้อมคาดการณ์ปี 2568 GDP ไทยโตไม่ต่ำกว่า 3.5-4% โดยในปี 2568 สิ่งสำคัญที่สุด ภาครัฐต้องเร่งความเชื่อมั่นต่อคนไทยและต่างชาติ โดยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งประเมินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ไม่ต่างจากเดิม เชื่อว่าสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งไทยเป็นมิตร เพราะ "ทรัมป์แฮร์ริส" ต่างก็ต่อต้านจีน ขอให้รัฐบาลไทยวางตัวเป็นกลาง และไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยมี 2 เรื่องที่ไทยต้องยกระดับมาตรฐานโลก คือ 1. การปราบคอร์รัปชัน และ 2. เรื่องกฎหมายที่ล้าสมัยที่มีจำนวนมากต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางการคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานานหลายสิบปี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดย GDP ย้อนหลังไป 10 ปี โตไม่ถึง 2% ขณะที่อาเซียนโต 5-7% ดังนั้นจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเมกะเทรนด์ของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยประสบปัญหาสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดขายรถยนต์ 9 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 3.9 หมื่นคัน ต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่รถกระบะเป็นตัวชี้วัดฐานรากของประเทศก็มียอดขายลดลง 40% ซึ่งภาครัฐเตรียมออกแพกเกจแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบจะเป็นพื้นฐานให้กำลังซื้อกลับมา
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐเผย GDP +2.8% ใน Q3/67 ต่ำกว่าคาดการณ์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2567)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2567 ในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.0% หลังจากมีการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 2/2567 และ 1.4% ในไตรมาส 1/2567 ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/2567 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.2% ในไตรมาส 3/2567 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.1% หลังจากดีดตัวขึ้น 2.8% ในไตรมาส 2/2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)