ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุต ผนึก 'จังหวัดโทคุชิมะ' ลงนามความร่วมมือ ผลักดันเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นโตอย่างยั่งยืน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย "Save อุตสาหกรรมไทย" เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ทางด้าน น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง "ดีพร้อม" และ "จังหวัดโทคุชิมะ" ที่จัดขึ้นนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ ดีพร้อมได้มีความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในวันนี้ ได้นำผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัด ทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และเครื่องจักร หลายรายมาร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. เดินหน้า FTA ไทย-ยูเรเซีย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังหารือกับนายเซอร์เกย์เลวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าได้หารือถึงแนวทางการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศตลอดจนการเร่งเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยนำเข้าข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นมรวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยและยูเรเซีย 5 ประเทศ ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศรวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุน รวมถึงลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ขณะเดียวกันไทยได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนช่วงไตรมาสแรกปี 2568
นายพรชัย ฐีระเวช
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
3. คลังคาดปี 68 GDP โต 3% เผยได้ 4 ปัจจัยหลักช่วยกระตุ้น (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 ถึง 3.2%) คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อนและนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวน 36.0 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า จะขยายตัวที่ 2.9% เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากโอกาสของผู้ประกอบการไทยแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8% อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัวที่ -1.9% เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือโดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนอยู่ที่ 0.6% เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อต่ำยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด เนื่องจากเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้ และเสถียรภาพภายนอกประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5 ถึง 3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้าการท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9 ต่อปี% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.4 ถึง 3.4%) ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6 ถึง 3.6%) นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.0 ล้านคน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ รวมถึงมีแรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.7 ถึง 2.7%)
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น 4.7% ในต.ค. เติบโตติดต่อกัน 13 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันในเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่ง โดยข้อมูลของกระทรวงระบุว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.43 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาหลีใต้เกินดุลการค้า 1.62 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้า 17 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์พุ่งขึ้น 40.3% เป็น 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดเป็นสถิติใหม่สำหรับเดือนตุลาคมและเติบโตรายปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นอกจากนี้ การส่งออกคอมพิวเตอร์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยเพิ่มขึ้น 54.1% แตะที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ด้านการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น 5.5% อยู่ที่ 6.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดสำหรับเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า เมื่อจำแนกตามตลาดส่งออกพบว่า การส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้น 11% เป็น 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่แตะระดับ 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกันยายน 2565 ส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.4% แตะระดับ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดรายเดือนเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)