ข่าวประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

1. สภาอุตฯ หวั่นสินค้าจีนทะลัก หาก "ทรัมป์" คว้าชัย (ที่มา: มิติหุ้น, ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้ง อาจสั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น และกระทบรุนแรงต่อภาค อุตสาหกรรมการผลิตของไทย ซึ่งภาครัฐควรวางมาตรการรับมือ ทั้งนี้ สำหรับนโยบายการค้าของ ทรัมป์ หากเข้ารับตำแหน่ง อาจสั่งตรวจสอบประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 12 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะประเด็นที่จีนมาตั้งโรงงานผลิตในไทย เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอาจทำให้ถูกตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไร ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ทั้งการปรับตัวด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี กระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. วาดฝันอุ้มเอสเอ็มอี 200 กิจการสู่ยุคดิจิทัล (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)

นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนฯ ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีมอีผ่าน 2 โครงการ ที่ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อผลักดันเอสเอ็มอี 200 ราย ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเพิ่มรายได้ลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัล สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทางธุรกิจตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ เอสเอ็มอี 100 ราย ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้คำปรึกษาเชิงลึก แนะนำการปรับปรุงและเตรียมความพร้อม ก่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 54 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนความคุ้มค่าต่อต้นทุนถึง 8.4 เท่า โดยโครงการนี้ใช้งบ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพ การผลิตเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 100 ราย ในอุตสาหกรรมดิจิทัลเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูปแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้พลังงานสูงโครงการนี้ใช้งบ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567-มีนาคม 2568 คาดว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพิ่มรายได้ คิดเป็นอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.6 เท่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 5,000,000 บาทเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด 2 ล้านบาท

 

A person sitting in a chair holding a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

3. สนค.ชี้ขัดแย้ง-สงคราม ดันส่งออกทูน่ากระป๋องไทยโต (ที่มา: สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น., ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม - กันยายน) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 65,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออกกว่า 618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.98 โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 38.97 ซึ่งแรงหนุนที่ทำให้ความต้องการในตะวันออกกลางขยายตัว มาจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะอิสราเอล ขยายตัว ร้อยละ 103.43 เลบานอน ขยายตัว ร้อยละ 72.97 และอิรัก ขยายตัว ร้อยละ 110.31 สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง ทั้งนี้ ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋องจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อ และการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน และมาตรการด้านแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ข่าวต่างประเทศ 

 

4. รัสเซียนำเข้าเนยจาก UAE-ตุรกี แก้ปัญหาราคาเนยในประเทศพุ่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)

สำนักงานสถิติของรัสเซีย เปิดเผยว่า ตัดสินใจนำเข้าเนยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และตุรกี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมราคาเนยภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นจนสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้บริโภค โดยราคาเนยก้อนพุ่งขึ้น 25.7% นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีการขโมยเนยในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง ทั้งนี้ ทางด้านสำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) กล่าวว่า รัสเซียได้นำเข้าเนยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้านี้รัสเซียไม่เคยนำเข้าเนยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เลย จนถึงขณะนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งออกเนยให้รัสเซียแล้ว 90 ตัน ขณะเดียวกันรัสเซียก็เริ่มนำเข้าเนยจากตุรกีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียกำลังพยายามเพิ่มอุปทานเนยเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและจัดหาเนยให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทางด้าน Rosselkhoznadzor ระบุว่า รัสเซียนำเข้าเนยจากลาตินอเมริกาลดลงเหลือเพียง 2,800 ตันในปีนี้ จาก 25,000 ตันในปี 2557 โดยมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดลดลง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งและข้อตกลงทางธุรกิจ ทั้งนี้ เบลารุส ซึ่งเป็นผู้จัดหาเนยรายใหญ่ที่สุดให้กับรัสเซีย ได้เพิ่มการส่งออกเนย 9% เป็น 110,000 ตันในปีนี้                          

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)