ข่าวในประเทศ
นายสุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. เร่งเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ขยายโอกาสการค้าการลงทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567)
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู รัฐมนตรีช่วยว่าการการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (COMCEC) ครั้งที่ 40 ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 ณ นครอิสตันบูล ทั้งนี้ สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2565 หลังจากการเจรจาร่วมกันมา 7 รอบโดยขอให้คณะเจรจาสองฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา FTA ระหว่างกันโดยเร็ว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายนอกจากนั้น ฝ่ายตุรกียังได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ระดับรัฐมนตรี ณ กรุงอังการา ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับตุรกีที่สองฝ่ายได้จัดตั้งไว้แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งฝ่ายตุรกีว่าไทยพร้อมเข้าร่วมประชุม JTC ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 เพื่อจะได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ได้เชิญชวนฝ่ายตุรกีให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ขณะเดียวกันฝ่ายตุรกีก็เชิญชวนไทยเข้าไปลงทุนในตุรกี ซึ่งได้แจ้งว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในตุรกีต่อไป ส่วนการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ ขอให้ทีมเจรจาสองฝ่ายพูดคุยกันต่อ เพื่อผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
2. 9 เดือน ส่งออกโต 3.9% สรท.ชี้เฝ้าระวัง 4 ปัจจัยเสี่ยง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567)
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,983.2 ขยายตัว 1.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท เท่ากับ 889,074 ล้านบาท หดตัว 0.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัว 3.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,589.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 886,336 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 เกินดุลเท่ากับ 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกินดุลในรูปของเงินบาท 2,738 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม - กันยายน ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 223,176.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.9% และมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,957,895 ล้านบาท ขยายตัว 8.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกในช่วงมกราคม - กันยายนขยายตัว 4.2%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 229,132.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,264,589 ล้านบาท ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ขาดดุลเท่ากับ 5,956.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท306,694 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 2% (ณ พฤศจิกายน 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 1.1) ความการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า มาตรการกำแพงทางภาษี 1.2) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ 2. ดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ 3. ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต 3.1) ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน 3.2) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเริ่มผ่อนคลายและปรับลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า 3.3) ราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องอาจมีการผันผวนเล็กน้อย 4. มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ 4.1) การยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย 4.2) EUDR เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา
นายนาวา จันทนสุรคน
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ชงแนวทางแก้วิกฤติเหล็กไทย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567)
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังนำตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมเหล็ก เข้าพบนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้ยั่งยืน ว่าปัจจุบันโลกเผชิญวิกฤติกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้ โดยสินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยปีนี้ มีแนวโน้มปริมาณมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยมีการใช้กำลังการผลิตถึงขั้นวิกฤติต่ำกว่าร้อยละ 30 จนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไป ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมเหล็ก จึงได้เสนอ 7 แนวทางบรรเทาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก ดังนี้ 1. การห้ามตั้งและห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไทย 2. การส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป 3. การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป 4. การสงวนเศษเหล็ก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ 5. การจัดทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ได้เกิดประโยชน์สูงสุด 6. การจัดทำนโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจากส.อ.ท. ว่าผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) และ 7.การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Counter vailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) แต่อย่างใดในขณะที่ประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลายๆ ข้อเสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กบางประเภท การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อาคารโครงสร้างเหล็กมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศษเหล็ก เป็นต้น โดยจะเร่งรัดผลักดันมาตรการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศไทย
ข่าวต่างประเทศ
4. ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนยืนยันเพิ่มนโยบายสวนทางวัฏจักรเศรษฐกิจ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567)
นายพาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ให้คำมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปและเพิ่มความพยายามในการปรับนโยบายที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (countercyclical adjustments) เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ทางด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ในรายงานของผู้ว่าการธนาคารจีน รายงานว่าด้วยงานด้านการเงินของประเทศที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและการเพิ่มนโยบายที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ดี เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงในระบบการเงินอย่างแข็งขันด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนายพาน กงเซิ่ง มีขึ้นในขณะที่มีการประชุม NPC ที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ โดยบรรดานักลงทุนต่างติดตามการประชุมนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อหาสัญญาณของมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)