ข่าวในประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
1. ผนึกปั้นมาตรฐานดูแลสูงวัย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย ในการสร้างเครือข่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อให้สถานบริการผู้สูงอายุไทยมีมาตรฐานระดับสากล พร้อมดึงดูดผู้สูงอายุทั่วโลกเลือกไทยเป็นที่พักพิงช่วงบั้นปลาย โดยเน้นการสร้างมาตรฐานหลายด้าน อาทิ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร การดูแลให้บริการ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพ การบริหารจัดการทางการเงินและบัญชี ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเติบโตต่อเนื่อง จากข้อมูลของคลังข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าปี 2564 มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจดทะเบียนจัดตั้ง 116 ราย ทุนจดทะเบียน 465 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 93 ราย ลดลง 23 ราย ทุน 341 ล้านบาท และปี 2566 จัดตั้ง 111 ราย เพิ่มขึ้น 18 ราย ทุน 179 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในไทย 761 ราย ทุนจดทะเบียน 4,246 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีความโดดเด่นติดอันดับ มีผู้ใช้บริการสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของไทย มีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเฉพาะประเทศไทยปี 2567 มีประชากรผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 13.2 ล้านคน หรือ 20.36% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66.05 ล้านคน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังมีนโยบายยกระดับธุรกิจบริการไทย โดยให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมธุรกิจบริการของไทยให้มีความเข้มแข็งได้มาตรฐาน และผนึกกำลังกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อกำหนดทิศทางส่งเสริมการตลาดและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมทั้ง ผลักดันให้ธุรกิจบริการไทยเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจที่เร่งผลักดันธุรกิจให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ช่วยสร้างความไว้วางใจในการเข้าใช้บริการแล้ว กรมฯ ยังได้ส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุ สุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจสปา นวดเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ บริการความงาม และบริการทางการแพทย์ ในการช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน
นายนาวา จันทนสุรคน
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดีขึ้น ส.อ.ท.แนะรัฐช่วย 4 เรื่องสำคัญ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดียอดขายสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ขณะเดียวธนาคารพาณิชย์ ก็เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 ตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 28,378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1,325,359 ล้านบาท สำหรับภาคการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันตามอุปสงค์ในตลาดโลกและจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และอาเซียน เป็นต้น โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง ทั้งนี้ ทางด้าน ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนกันยายน 2567 ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และโครงการลงทุนและการก่อสร้างต่างๆช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก การท่องเที่ยว มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และการเข้าสู่ฤดูหนาวในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงกังวล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐดังนี้ 1. เสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้เอสเอ็มอีอาทิ ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด โดยให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสดของบริษัทปีล่าสุดเป็นต้น 2. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 3. ออกมาตรการทางภาษีและการเงินเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และเร่งการจัดซื้อภาครัฐในหมวดพาหนะปี 2568 และ 4. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้า
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม
3. 'เอกนัฏ' แก้มอก.รถ 'เอ็นจีวี' สั่งเพิ่มวาล์วตัดแก๊สอัตโนมัติ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2333 ให้ทันต่อสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่โดยสารรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือซีเอ็นจี เป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ สมอ. ได้ยกเลิกและปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เพื่อให้กรมการขนส่งทางบก นำไปอ้างอิง บังคับใช้ตามกฎหมาย โดยอ้างอิงไอเอสโอ 15501 ฉบับล่าสุด ซึ่งกำหนดให้รถติดตั้งระบบซีเอ็นจี ต้องมีวาล์วเปิด-ปิดอัตโนมัติที่ หัวถังทุกถังเท่านั้น โดยเตรียมนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 พ.ย.นี้ เมื่อมีมติเห็นชอบคาดว่าจะสามารถประกาศใช้งานมาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งการแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. เป็นการกำหนดแนวทางให้ผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชนตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เล่ม 1 และ 2-2550 (ระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ เล่ม 1 ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เล่ม 2 วิธีทดสอบ) เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งนำมาพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมด โดยมั่นใจว่าการปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมในครั้งนี้จะช่วยทำให้ความปลอดภัยของรถที่ใช้ก๊าซซีเอ็นจี หรือก๊าซเอ็นจีวี มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
ข่าวต่างประเทศ
4. เวียดนามตั้งเป้า GDP ปี 2568 โต 6.5-7% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยรายงานว่า สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) หรือรัฐสภาของเวียดนาม ตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2568 ที่ระดับ 6.5-7% ขณะเดียวกันก็หวังผลักดันการขยายตัวให้ได้ 7-7.5% ทั้งนี้ ตามมติว่าด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2568 ที่ผ่านสภาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ยังได้มีการกำหนดเป้าหมาย GDP ต่อหัวไว้ที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาดว่า อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปจะมีสัดส่วนใน GDP ที่ประมาณ 24.1% ในปีหน้า และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นที่ราว 4.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจในปี 2567 นี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 6.8-7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐสภาที่ 6-6.5%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)