ข่าวประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นายนภินทร ศรีสรรพางค์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. วางแผนคุมสินค้านำเข้าไร้คุณภาพ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567)

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศเปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้กำหนดสินค้านำเข้า 3 กลุ่มที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน คือ สินค้าเกษตรสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้วิเคราะห์ปัญหา และมาตรการดูแล โดยกำหนดแผนงาน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จในสิ้นปี 2567ระยะกลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าไทยแข่งขันได้ภายในปี 2568 และระยะยาวเพื่อขยายตลาดและสร้างความยั่งยืน พร้อมแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งแผนทั้งหมดนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ สำหรับสินค้า 3 กลุ่มที่ไม่ได้คุณภาพนั้นจะมีการตรวจสอบ เช่น สินค้าเกษตร จะตรวจสอบสารปนเปื้อนแบบเชิงลึก พร้อมลงไปในพื้นที่ปลูกส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค จะดูแลและเพิ่มมาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนการค้าในไทย คาดว่า จะดำเนินการได้ช่วงต้นปี 2568

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ TEMU จากจีนนั้นได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในไทยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กับกรมธุรกิจพัฒนาธุรกิจการค้า ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมจะตรวจสอบมาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งจะให้ความเข้มข้นและครอบคลุมสินค้าให้หลากหลาย พร้อมทั้งขยายการดูแลในทุกช่องทางและการโฆษณาด้วย สำหรับการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด SMEs นั้น มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 35.2% ในปี 2566 เป็น 40% ภายในปี 2570 ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้วางแผนดำเนินการต่างๆ ไว้แล้ว

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายพรยศ กลั่นกรอง

รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

2. อนุมัติใบรง.4 ฉิวทะลุ 3.2 แสนล้าน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567)

นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ ว่า กรอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง ลดระยะเวลา และออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่ดี โดย กรอ.ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการออกใบอนุญาต รง.4 และการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการหลอมหล่อตะกรัน หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาเอกสารประกอบการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม มีความปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการทุกกระบวนการ ขณะเดียวกันได้ยกระดับปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการจัดทำบัญชี แบล็กลิสต์ ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดี จะนำไปสู่การปฏิรูปยกระดับการพิจารณาตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้การประกอบกิจการโรงงานส่งผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในอนาคต ภายใต้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบกำกับอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการอนุมัติใบอนุญาต รง.4 ทั้งตั้งใหม่และขยายโรงงาน ข้อมูลล่าสุดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) พบว่า จำนวนโรงงานขอรับใบอนุญาตและขยายโรงงาน อยู่ที่ 2,294 โรงงาน เพิ่มขึ้น 27 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 1.19% เมื่อเทียบกับปีก่อน เงินลงทุนจากการตั้งและขยายโรงงาน 321,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,607 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.76% ส่งผลให้เกิดการจ้างงานใหม่จากการตั้งและขยายโรงงาน 93,747 คน เพิ่มขึ้น 12,693 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้น 15.66% ทั้งนี้ ธุรกิจตั้งใหม่ 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ขณะที่ธุรกิจขยายกิจการ 5 อันดับแรก คือ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT

3. ส่งออกทองคำขายเก็งกำไร อานิสงส์เฟดลดดอกเบี้ย-กองทุนเข้าซื้อ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567)

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 1,275.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.81% กลับมาติดลบอีกครั้ง และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,016.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.54% ยอดรวม 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม-กันยายน) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,053.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.15% หากรวมทองคำ มูลค่า 12,448.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.85% สำหรับการส่งออกทองคำเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.99% เนื่องจากราคาทองคำในเดือนกันยายนยังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,663.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ยอดรวม 9 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 5,394.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 20.29% สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 7.30% สหรัฐฯ เพิ่ม 14.79% อินเดีย เพิ่ม 38.53% เยอรมนี เพิ่ม 12.70% อิตาลี เพิ่ม 3.59% เบลเยียม เพิ่ม 33.51% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 7.16% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.72% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 9.21% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 10.89%

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อประเทศคู่ค้าสำคัญปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯขณะที่สหภาพยุโรป เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และปลายปียังเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้มีการซื้อของขวัญให้แก่ตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้นโดยช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นที่นิยมมากสุด ตามด้วยห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับคอลเลคชั่นให้ตรงตามความต้องการ สวมใส่ได้หลายโอกาส และสร้างเรื่องราวสินค้าให้โดนใจผู้บริโภค รวมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มาช่วยวิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ผู้บริโภค และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม ก็จะทำให้ขายสินค้าได้ แม้โลกจะผันผวน

 

 

 

ข่าวต่างประเทศ 

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. จีนเผยยอดค้าปลีกเดือนต.ค. สูงกว่าคาด แต่การลงทุนของภาคอสังหาฯ ทรุดตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคม 2567 พุ่งขึ้น 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.8% และแข็งแกร่งกว่าในเดือนกันยายน ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.2% สะท้อนให้เห็นว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นปัจจัยหนุนภาคส่วนที่สำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6% และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับตัวขึ้น 3.4% ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ลดลง 10.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากกว่าในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน ที่ลดลง 10.1%

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ NBS ยังได้เปิดเผยอัตราว่างงานในเขตเมืองของจีนซึ่งขยับลงแตะระดับ 5% ในเดือนตุลาคม จาก 5.1% ในเดือนกันยายน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)