ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. 'พิชัย' ชวนญี่ปุ่นเพิ่มลงทุนไทย (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือทวิภาคีกับนายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting : AMM) ครั้งที่ 35 โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งที่เป็นยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิต ทั้งยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ให้กับญี่ปุ่น ขณะนี้มีอุตสาหกรรมไฮเทคมาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board หรือ PCB) ต่อไปไทยจะเป็นฐานการผลิตใหญ่ของโลก และได้เชิญมาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมชั้นนำอื่นๆ ซึ่งในช่วงปี 2557 นักลงทุนจากญี่ปุ่นหายไปจากประเทศไทยราว 50% จากเดิมที่เคยเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย ซึ่งจากการหารือครั้งนี้และการที่ได้พบกับไจก้ามาก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นรับปากว่าจะกลับมาลงทุนในไทยให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาอันดับการลงทุนของญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นกลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ได้มีกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรม "Happy Winter Thai Festival" ระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการตลาดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในตลาดญี่ปุ่น โดยได้นำสินค้าไทยมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายอีกด้วย อาทิ สินค้าผ้าไทย สินค้าการ์ตูนคาแร็กเตอร์ ผลิตภัณฑ์สปา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ ญี่ปุ่นแจ้งความคืบหน้าของการจัดการงาน EXPO 2025 OSAKA Kansai ระหว่างวันที่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไทย รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Thailand Pavilion เพื่อชูศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย โดยผสมผสานศาสตร์การแพทย์สมุนไพรไทยกับนวัตกรรม จึงจะร่วมเชิญชวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานทั่วโลก เข้าร่วมงาน EXPO 2025 OSAKA Kansai ตลอดจน เข้าร่วมชมอาคารนิทรรศการ Thailand Pavilion อีกด้วย
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. กนอ.ยกระดับนิคมฯไทย รองรับการลงทุนขับเคลื่อนศก.สีเขียว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567)
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 ตนพร้อมคณะผู้บริหาร กนอ.ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ Green Transition เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนกับ 4 องค์กรชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ไฮไลท์ของการศึกษาดูงานครั้งนี้ เริ่มที่ IHI Corporation เมืองโยโกฮาม่า ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด เพื่อศึกษาเทคโนโลยี เช่น Gas turbine ที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนีย 100% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จาก CO2 (CCU) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากสารละลายกลุ่ม Amine เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ Methanation เพื่อผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม ถัดมาได้ไปที่ JFE Urban Recycle Corporation บริษัทชั้นนำด้านการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่ได้เรียนรู้และสอบถามข้อมูลของกระบวนการ ตั้งการถอดแยกชิ้นส่วน การลดขนาด การแยกประเภทวัสดุ การแปรรูปการจัดการสารอันตราย ที่น่าสนใจคือ บริษัทฯ นี้ดำเนินการตามหลักการ "Polluter Pay Principle" ที่ให้เจ้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และการจัดการ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ NEC Corporation เช่น การเดินสายเส้นไฟเบอร์ในพื้นที่ใต้น้ำทั่วโลก การพัฒนาระบบเซ็นเซอร์เพื่อประยุกต์ใช้ในงานขนส่ง เช่น พยากรณ์การจราจรการติดตามรถการตรวจระบบไบโอเมตริกซ์เพื่อระบุตัวตนบุคคล พร้อมศึกษาแนวทางการพัฒนา NEC's GX Solutions เพื่อส่งเสริมการลดผลกระทบ (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของอุตสาหกรรมและเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 1,2,3 และพัฒนาโมเดลวิเคราะห์ความสูญเสียจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศ (Adaptation Finance) ภายในพื้นที่วิจัย NEC Future Creation Hub ซึ่งการดูงานครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมรองรับการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นางสาวฐิตา เภกานนท์
นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย เศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
3. อุตฯยานยนต์ปี 68 ยอดขายทรงตัวที่ 5.5 แสนคัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567)
นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย เศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยการประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญความท้าทายจากอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางส่งผลให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์ฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่กลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าจะทยอยกลับมาคึกคักรับอานิสงส์จากการค้าชายแดนและผ่านแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวที่ 5.5 แสนคัน ระยะปานกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่สามารถกลับสู่ช่วง Pre-Covid ได้ในภายในปี 2571 เพราะเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบด้วย 1) สถาบันการเงินเข้มงวด การปล่อยสินเชื่อ เช่าซื้อ 2) กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้าง เปราะบาง 3) พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น 4) การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อ ทั้งนี้ ต้องติดตาม Vicious cycle ในตลาด ยานยนต์ไทย อันเกิดจากการที่สถาบันการเงินมี แนวโน้มตรึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ที่กังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือ 2 ที่คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันกันด้วยราคา ยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวด ยานยนต์ให้เสื่อมค่าลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น ตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตได้ต่อเนื่อง ตลาดรถโดยสาร ได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหา Overcapacity ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยว บรรเทาลง ในระยะปานกลางต้องจับตาทิศทางการนำเข้า ยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งแม้จะ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็นำมา ซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
ข่าวต่างประเทศ
4. ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานญี่ปุ่นร่วง 3 เดือนติดในเดือนก.ย. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567)
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวลดลง 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 8.52 แสนล้านเยน นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9% ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า โดยไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสำหรับการต่อเรือและซ่อมแซม รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มผันผวนสูง โดยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.883 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากภาคบริการและอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผลิตนั้นเพิ่มขึ้น 1.5% แตะที่ระดับ 4.537 แสนล้านเยน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีอัตราการลดลงมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ (-32.8%), บริการสารสนเทศ (-25.7%), เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (-18%) อาหารและเครื่องดื่ม (-15.5%) และเครื่องจักรไฟฟ้า (-15.4%)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานในเดือนกันยายน ลดลง 4.8% หนักกว่าเดือนสิงหาคมที่ลดลงเพียง 3.4% และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2 นอกจากนี้ NBS ยังได้เปิดเผยอัตราว่างงานในเขตเมืองของจีนซึ่งขยับลงแตะระดับ 5% ในเดือนตุลาคม จาก 5.1% ในเดือนกันยายน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)