ข่าวประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567

ข่าวในประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ประเทศคู่ค้า ผู้สนใจลงทุน ผู้สนใจซื้อสินค้าและบริการ นักท่องเที่ยว หรือผู้หาที่จัดงาน MICE ตัดสินใจเลือกประเทศไทย หรือ สินค้าและบริการของไทยผ่านการส่งสารโดยอาศัยพลังทางอ้อม หรือ Soft Power ที่ไม่ใช่การพูดหรือโฆษณาโดยตรง แต่เป็นการสื่อสารว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าใช้ชีวิต คนไทยเป็นคนน่ารัก มีศิลปะและวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อน มีความใส่ใจในสินค้าคุณภาพในทุกๆ ช่องทางการสื่อสาร ทั้งนี้ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ช่วงแรกจะเน้นการพัฒนาการสื่อสารพลังทางอ้อมนี้ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ 1) ละคร/ภาพยนตร์ 2) แฟชั่น 3) อาหาร 4) งาน festival 5) กีฬามวยไทย ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใสผนวกกับนโยบายการเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ในด้านการสร้างรายได้และการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ดีพร้อมได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตามแนวคิด Fun & Freedom แฟชั่นไทย ใส่ยังไงก็สนุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติพูดถึงประเทศไทย จึงได้มีแนวคิดในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มบนฐานของทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคและเครื่องมือการโน้มน้าวและสื่อสาร สร้างกระแสให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักผ่านการสื่อสารพลังทางอ้อมของประเทศไทย อาทิ การสร้างคอนเทนต์ การเล่าเรื่องการสร้างแบรนด์ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงและบูรณาการ Soft Power ข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างกระแส Soft Power ด้านแฟชั่น

 

A person with her arms crossed

Description automatically generated

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

 

2. กรมพัฒน์ผนึกกำลังส.อ.ท. ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน SME (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะกรรมการ ว่าได้หารือร่วมกันถึงการวางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ SME กำลังเผชิญอยู่ และยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของ SME ไทย ทั้งนี้ กรมได้ชี้แจงว่ามีกิจกรรมที่ช่วยเสริมแกร่งให้ SME ในหลายด้าน อาทิ การเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการธุรกิจผ่าน DBD Academy การสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการค้าออนไลน์ (e-Commerce) การยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ สินค้าชุมชน รวมถึงมีแพลตฟอร์ม e-Service ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น DBD SMEs 360 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมเครื่องมือในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจไว้ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และ DBD Data Warehouse ที่สามารถช่วยตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าได้ เป็นต้น ซึ่งการจับมือกันของ 2 หน่วยงาน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมพัฒนาให้ SME ไทยสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เนื่องจาก SMEมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของ SME จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่ ยังขาดองค์ความรู้ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ SME ด้วย 4GO คือ GO Digital&AI, GO Innovation, GO Green และ GO Global พร้อมนำเสนอแผนการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ 1. การแนะนำการใช้บริการผ่านระบบ E-Service 2. การตรวจสอบข้อมูลคู่ค้า (นิติบุคคล)เพื่อทำนิติกรรมสัญญาและธุรกรรม 3. การจัดงาน FTI EXPO 2025 4. FTI Mobile Market Roadshow และ 5. FTI SME We care "FTI ชี้ทางรอด"

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายจุฬา สุขมานพ

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี

 

3. เคาะธุรกรรมการเงินในอีอีซี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี ได้เห็นชอบเรื่องสิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงิน สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. . เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในการทำธุรกรรมการเงิน โดยอีอีซีได้ตกลงร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ประกอบกิจการให้สามารถส่งคืนเงินทุน เงินกู้ยืมที่นำมาเริ่มต้นกิจการ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจจากเงินทุนที่นำมาลงทุนในกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ได้ รวมทั้งให้นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังให้กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศกับกิจการในเครือและกิจการอื่นที่ความสัมพันธ์ในเชิงห่วงโซ่อุปทานได้นอกจากนี้ผู้ประกอบกิจการในอีอีซีไม่ต้องนำเงินได้เงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกหรือรายได้นอกประเทศกลับเข้าไทย สำหรับกรณีเงินได้ที่ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสุดท้ายคือ การใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการฯ ด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกคล่องตัวให้ ผู้ประกอบกิจการและเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานของ สกพอ. 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2. ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งของเลขาธิการ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และ 3. ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง กำหนดค่าบริการในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...

อย่างไรก็ตาม อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นชอบ แผนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลาง โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อให้เป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และยังได้รับทราบความก้าวหน้าการ ดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยที่ดิน ซึ่ง สกพอ. ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. แล้ว พื้นที่ประมาณ 4,916 ไร่และยังเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์การแพทย์และสุขภาพ ปลวกแดง (EECmhp) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ บริเวณอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจร ส่งเสริมการลงทุน และดึงดูดความสนใจของเอกชนที่จะมาร่วมลงทุน

 

ข่าวต่างประเทศ 

 

A logo with a world map

Description automatically generated

4. IMF เตือน การขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมา อาจทำศก.เอเชียสะดุด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า การขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมาอาจบั่นทอนโอกาสทางเศรษฐกิจของเอเชีย เพิ่มต้นทุน และกระทบห่วงโซ่อุปทาน แม้ IMF คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะยังคงเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมามีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อโอกาสการเติบโตทั่วทั้งภูมิภาค ทำให้ห่วงโซ่อุปทานยืดเยื้อขึ้นและมีประสิทธิภาพน้อยลง ทังนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำเตือนของศรีนิวาสันเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแผนการของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% และสินค้านำเข้าอื่นๆ อย่างน้อย 10% โดยภาษีนำเข้าอาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก ฉุดการเติบโตของประเทศที่เน้นการส่งออก และอาจทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะยังไม่สดใสก็ตาม

อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกจะโต 3.2% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดไว้สำหรับเอเชียที่ 4.6% ในปีนี้และ 4.4% ในปีหน้า ทั้งนี้ เอเชียกำลังอยู่ใน "ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ" ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมถึง "ความเสี่ยงร้ายแรง" จากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศคู่ค้ารายใหญ่ โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและความคาดหวังของตลาดอาจส่งผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในเอเชีย ซึ่งจะกระทบต่อกระแสเงินทุนโลก อัตราแลกเปลี่ยน และตลาดการเงินอื่นๆ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)