ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' นำทีมโรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เข้าพบ อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งการเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและ ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
2. อัพไซเคิลธุรกิจบูม เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน รับความต้องการคนรุ่นใหม่ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากรายงาน Global Waste Management Outlook 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านตัน ภายในปี 2593 และทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะทั่วโลกเพิ่มขึ้น จาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 6.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2593 สำหรับประเทศไทย ในปี 2566 มีขยะมูลฝอยชุมชน 26.95 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 73,840 ตันต่อวัน ซึ่งจากปริมาณขยะมหาศาลเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนเป็นภาระทางคลังของประเทศ ซึ่งความท้าทายในการจัดการขยะจำนวนมาก และต้นทุนในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณขยะ ก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ การอัพไซเคิล ซึ่งหมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูป ออกแบบ ต่อยอด และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีมูลค่ามากขึ้น และสามารถนำไปใช้งานได้จริงได้รับความนิยมขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงสินค้าและบริการอัพไซเคิลด้วย โดยบริษัทวิจัยการตลาด Grand View Research ได้รวบรวมมูลค่าตลาดอัพไซเคิลทั่วโลก และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 ตลาดอัพไซเคิล จะมีมูลค่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 5.6% ต่อปี เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดวัตถุดิบอัพไซเคิล ที่คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2575 โดยเติบโตเฉลี่ย 6.4% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอัพไซเคิลของไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรวบรวมและแยกขยะ ออกแบบ และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และการสนับสนุนทุกภาคส่วน อาทิ มาตรการทางการเงิน ภาษี และการลงทุนในธุรกิจหมุนเวียน การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล
นายธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
3. คาด GDP ไทยวูบ 1% นโยบายทรัมป์ทุบส่งออกร่วง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567)
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการประเมินว่าจากนโยบายของทรัมป์ "อเมริกันต้องมาก่อน" เรื่องหลักซึ่งประกอบไปด้วย 1. การกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีและกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจ 2. นโยบายการค้าระหว่างประเทศ เน้นนโยบายกีดกันทางการค้า ด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม 10% จากประเทศที่เกินดุลและจากจีน 60% 3. นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ผ่านภาษีนำเข้า ลดกฎระเบียบ ลดการพึ่งพาจีนในอุตสาหกรรมสำคัญ 4. นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนนโยบายพลังงานได้ทุกรูปแบบ ต่อต้านข้อตกลงปารีส และมองว่าการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศเป็นภาระ 5.นโยบายแรงงานและสวัสดิการสังคม เน้นการสร้างงานผ่านการลดภาษีและกฎระเบียบ และ 6. นโยบายการเงิน มุ่งลดความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีดุลการค้ากับสหรัฐเกินดุลอยู่อันดับที่ 9 และจากข้อมูลย้อนหลังพบว่าไทยมีการเชื่อมโยงกับสหรัฐด้านการส่งออกสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แม้จะลดลงบ้างในปี 2018 แต่จากนั้นก็สูงขึ้นมาตลอด ในขณะที่ไทยยังคงพึ่งพาตลาดสหรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ 7.2% ซึ่งเป็นการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียง 61% เท่านั้น พึ่งพาตลาดโลก 39% ดังนั้น เมื่อโลกแย่ สหรัฐแย่ ไทยก็แย่ไปด้วย โดยสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐสูงที่สุดคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 10,477 ล้านดอลลาร์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 9,502 ล้านดอลลาร์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง 4,529 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หากในปี 2568 ทรัมป์ดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดกับไทย คือ 1. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงบางส่วน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายการค้าแบบปกป้องจากการเก็บภาษีนำเข้า 2. การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% มูลค่าการค้าของไทยจะลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลพวงไปด้วยคืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่มยานพาหนะโลหะสามัญและผลิตภัณฑ์จากโลหะ 3. จะเห็นการลงทุนลดลงจากสหรัฐ หรืออาจมีการถอนการลงทุนออกไปบ้าง และ 4. GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลงบางส่วนได้ เทียบกับช่วงก่อนเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากดูจากผลกระทบแล้วจะเห็นว่า ผลทางตรงการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐจะลดลง 108,714 ล้านบาท และทางอ้อมการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีนและสหรัฐจะลดลง 49,105 ล้านบาท การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐและจีนรวมแล้วสูงถึง 160,472 ล้านบาท มีผลทำให้ GDP ไทยหายไป 1% ในปี 2568 บวกกับผลพวงของความเสี่ยงในเรื่องของสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยจากประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยในปี 2568 หาก GDP โลกขยายตัว 2.7-3.2% ไทยจะส่งออกอยู่ที่ 2.8% มูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์ ตลาดสำคัญยังคงเป็น ยุโรป อินเดีย อเมริกา สินค้าเด่นคือเครื่องจักรกลผลไม้สด แช่แข็ง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษี 10% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือ 2.24% และหากขึ้นภาษีกับประเทศที่เกินดุล 15% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือเพียง 0.72% ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการคือการอัดมาตรการด้านท่องเที่ยวและการบริโภค และต้องหาแต้มต่อของไทยจากการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และไม่โดนกำแพงภาษีมากเกินไป เพื่อดึงการลงทุนเข้ามาแทนเวียดนาม ที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษี 15-20% เพราะเกินดุลการค้ามากกว่าไทย
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติอินโดนีเซียคงดอกเบี้ยที่ 6% หวังรักษาเสถียรภาพรูเปียห์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567)
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6% ในการประชุมวันนี้ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ BI มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกันยายน 2567 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทังนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์ หลังจากที่ดิ่งลงอย่างหนัก ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์ขานรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า แม้ว่า BI จะยังคงประเมินความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่ก็ยอมรับว่าสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทำให้ความสามารถของ BI ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ถูกจำกัดมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เป็นเรื่องยากที่ BI จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม และอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)