ข่าวในประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. ฟื้นเวทีประชุม JTC รอบ 10 ปี มุ่งดันการค้าลงทุนไทย-ปากีสถาน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 มกราคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย (นางรุคซานา อัฟซอล) ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นชอบที่จะกลับมาประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ปากีสถาน (ระดับรัฐมนตรี) หลังจากห่างหายไปกว่า 10 ปี เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและบริบทการค้าปัจจุบัน อาทิ การกลับเข้าสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-ปากีสถาน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และการพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้แก่ อาหาร สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ประมง และการท่องเที่ยว อันจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ในระยะยาว โดยไทยยินดีเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 4 ในปี 2568 ทั้งนี้ ปากีสถานถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 240 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก มีประชากรวัยทำงานที่มีกำลังซื้อมากถึง 80 ล้านคน ซึ่งการค้าระหว่างกันมีความเกื้อกูลกันและมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากสินค้าหลายรายการเป็นสินค้าขั้นกลางจากไทยที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของปากีสถาน เพื่อรองรับตลาดภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ใยสังเคราะห์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์ ในขณะที่ปากีสถานมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สามารถเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้ เช่น สัตว์น้ำ อัญมณี ถ่านหิน และแร่เหล็ก
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายจึงเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยไทยได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการปากีสถานเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ "My Karachi" ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2568 ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ขณะที่ปากีสถานได้เชิญผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน "Pakistan ASEAN Trade Development Conference" ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2568 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ไทยและปากีสถานยังยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยปากีสถานได้มีการจัดตั้งสภาอำนวยความสะดวกการลงทุนพิเศษ (Special Investment Facilitation Council) เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตรและอาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานหมุนเวียน การทำเหมืองแร่ และท่องเที่ยวในขณะที่ไทยได้เชิญชวนให้ปากีสถานเข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทย โดยไทยมีความพร้อมด้านระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีรองรับการลงทุนอย่างเต็มที่ อาทิ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
2. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 4 ปี (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 7 มกราคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2567 ว่า มีค่าเท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2566 สูงขึ้น 1.23% เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 1.23% เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.28% จากการสูงขึ้นของผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มราคาสูงขึ้น 1.21% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ยังปรับสูงขึ้นเช่นกัน นายพูนพงษ์กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ยทั้งปี 2567 ว่า เมื่อเทียบกับปี 2566 สูงขึ้น 0.40% เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี มาจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.76% และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มราคาสูงขึ้น 0.14%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปีนี้จะมีค่าสูงขึ้น โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.25% เพราะเพดานราคาดีเซล ในประเทศปีนี้อยู่ที่ 33 บาท/ลิตรสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 29.92 บาท/ลิตร ขณะราคาสินค้ากลุ่มเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้อาหารสำเร็จรูป อาหารทานนอกบ้านอาจแพงขึ้น ทั้งปี 2568 คาดว่าจะสูงขึ้นจากปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
3. ชี้ตปท.กดศก.ไทยเสี่ยงสูง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 7 มกราคม 2568)
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายของประเทศคู่ค้าหลักที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง และในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันภายนอกประเทศสูงขึ้น และปัจจัยโครงสร้างในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ ในด้านนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้แต่ยังมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน และมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับการรักษากันชนด้านนโยบาย (โพลิซี บัฟเฟอร์) ในแง่ต่างๆ ไว้ด้วย รวมถึงพิจารณาผสมผสานเครื่องมือในเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ในด้านทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ มองว่า ยังมีความผันผวนจากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความท้าทายและคาดเดาได้ยาก ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน หรือ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นความท้าทายไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น เพราะเป็นปัจจัยเฉพาะ ทั้งนี้ ต้องมองข้างนอกและข้างในพร้อมกัน โดยในระยะต่อไป มีความท้าทายค่อนข้างมาก โดยประเด็นที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ในแง่ของแรงงานค่อนข้างสูง กระทบถึงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ แม้ในภาพรวมไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยมากนัก ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการเงินดิจิทัล เฟส 2 และเฟส 3 มาตรการอีซี่ อี-รีซีท ลดหย่อนภาษี ที่จะต้องติดตามว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ปัจจัยลบต้องติดตามความรุนแรงของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ
4. ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-บริการขั้นสุดท้ายยูโรโซน หดตัวส่งท้ายปี 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 มกราคม 2568)
เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยผลสำรวจว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจบปี 2567 ไปแบบไม่สวย กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนธันวาคม 2567 แม้ภาคบริการมีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถชดเชยภาวะตกต่ำที่รุนแรงขึ้น ในภาคการผลิตได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจาก HCOB ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวขึ้นเป็น 49.6 ในเดือนธันวาคม จาก 48.3 ในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าค่าประมาณการเบื้องต้นที่ 49.5 เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูล PMI เดือนธันวาคม 2567 ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้คาดหวังได้ว่า ภาคบริการจะบูมในปี 2568 แต่อย่างน้อยธุรกิจใหม่ที่เข้ามาก็ไม่ได้ลดลงอีกแล้ว และแบ็คล็อกก็ไม่ได้ลดลงเร็วเท่าเดิม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)