ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ยืดห้ามตั้งโรงงานเหล็กไปอีก 5 ปี (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 15 มกราคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา และแนวโน้มในปี 2568 ยังคงมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกสินค้าจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดอย่างหนัก จนส่งผลให้โรงงานเหล็กของไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง บางรายต้องปิดกิจการ ดังนั้น เพื่อรักษาอุตสาหกรรมภายในประเทศ จึงมีคำสั่งให้ขยายห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้นออกไปอีก 5 ปี และจะทบทวนคำสั่งในทุกๆ 5 ปี โดยจะต้องนำข้อมูลในภาวะปัจจุบันมาประกอบการพิจารณาเป็นหลัก ซึ่งหากพบว่าในปีนั้นๆ ที่จะสิ้นสุดคำสั่งก็จะนำกลับมาพิจารณาใหม่ สำหรับประกาศ ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 5 ปี มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และสิ้นสุดในปี 2568 นี้ ทั้งนี้ ได้เตรียมเซ็นคำสั่งดังกล่าวแล้ว เพราะเราเห็นผลกระทบของอุตสาหกรรมเหล็กมาตลอด และกระทรวงอุตสาหกรรมเองประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งว่าจะต้องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องควบคุมสินค้าที่จะเข้ามากระทบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กปี 2568 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% หรือประมาณ 16.5 ล้านตัน จากที่เคยใช้ถึง 20 ล้านตัน แต่การเติบโต ที่ 3% เป็นการโตแบบที่ต้องระมัดระวัง เพราะในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศผลิตลดลงถึง 7% เพราะถูกจีนมาแย่ง ทำให้กำลังการผลิตจากที่เคยสูงถึง 18 ล้านตัน เหลือเพียง 6 ล้านตัน เท่านั้น เช่นเดียวกัน หากในปีนี้ไทยจะเสียอัตราการเติบโตไปให้จีนอีก การเติบโตที่ 3% จึงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น นอกจากการป้องกันอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศด้วยการขยายการห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้น 5 ปีแล้ว รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ผ่านมา ได้เรียกร้อง ให้กระทรวงพาณิชย์กล้าใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) ที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ควรใช้มาตรการที่เร็วและทันการณ์ คือ ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure : SG) หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยใช้ และควรที่จะกล้าใช้มากกว่า AD
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม
2. 'ดีพร้อม' กางนโยบายปี 68 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 มกราคม 2568)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2568 ว่าดีพร้อมได้ปฏิรูปการดำเนินงาน โดยมองภาพการพัฒนาให้กว้างขึ้นตอบสนองประเด็นปัญหาเชิงมหภาคของภาคอุตสาหกรรมทั้งแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลกกับการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเดิมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ การดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ รวมถึงภารกิจการช่วยเหลือให้วิสาหกิจไทยปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ให้อยู่รอด เดินต่อ และเติบโตสู่สากลพร้อมยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มผลิตภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมช่วยเหลือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs)ในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ ดีพร้อมจะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 4 ให้ และ 1 ปฏิรูป ดังนี้ 1. ให้ทักษะใหม่ 2. ให้เครื่องมือที่ทันสมัย 3. ให้โอกาสโตไกลช่วยเหลือให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล และ 4. ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชนในส่วนปฏิรูป ดีพร้อมมุ่งพัฒนาองค์กรให้ดีพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับบริบทและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ภายใต้ความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นสอดรับกับเรื่อง "การปรับตัวของภาครัฐ" โดยปี 2568 ดีพร้อมมีแนวคิดในการปฏิรูปองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของดีพร้อม โดยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัยเข้ามาปรับใช้ ยกระดับระบบการให้บริการให้ก้าวทันยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2569 ดีพร้อมได้ตั้งคำของบประมาณไว้ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งนโยบายทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นใจได้ว่าการกระตุ้น GDP เพิ่มอีก 1% นั้นทำได้แน่นอน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
3. ดีป้า เร่งคลอดพรบ.ส่งเสริมอุตเกม คาดประกาศใช้บังคับใช้ปลายปี 68 (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 15 มกราคม 2568)
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... โดย พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม ทั้งนี้ โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียน การกำกับ และกองทุนส่งเสริม โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ซึ่ง ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะส่งผลให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทย ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป จากนี้ ดีป้า จะนำ ความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาเร่งปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่างๆ การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย
ข่าวต่างประเทศ
4. อัตราว่างงานเกาหลีใต้เดือนธ.ค. พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 มกราคม 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่งในเดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นลดลงท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม แตะ 3.7% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.7% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจำนวนผู้มีงานทำลดลง 52,000 รายในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 123,000 รายในเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2567 จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นเพียง 159,000 คน หรือ 0.06% เป็น 28.58 ล้านคน ทั้งนี้ ด้านการสร้างงานมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงหลังการระบาดใหญ่ โดยมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น 816,000 ตำแหน่งในปี 2565 แต่หลังจากนั้นก็ได้ชะลอตัวลง จนมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 327,000 ตำแหน่งในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงอีกในปี 2567
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)