ข่าวประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568

ข่าวในประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. 4 ทางคุมข้าวโพดต่างแดน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้เร่งหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ข้ามพรมแดนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการเผาซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นปัญหาสำคัญของการเกิดฝุ่นพิษ โดยการกำหนดมาตรการครั้งนี้ได้พิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หากห้ามนำเข้ามาโดยไม่มีมาตรการรองรับอาจส่งผลกระทบต่อระบบเป็นวงกว้างและยังรวมถึงค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนสินค้าส่งออกของผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้ สำหรับข้อสรุปเบื้องต้นเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเข้มงวดใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1. ผู้นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ 2. ต้องแสดงเอกสารรับรองว่าข้าวโพดที่นำเข้ามาปลอดจากกระบวนการเผาโดยสิ้นเชิง พร้อมต้องระบุข้อมูลสำคัญ เช่น แหล่งเพาะปลูก ที่ตั้งแปลงปลูก ปริมาณการนำเข้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 3. หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกพักการขึ้นทะเบียน ทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้ และสุดท้าย 4. กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอแนวทางนี้ต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในเดือนเมษายน 2568 นี้ เพื่อให้พิจารณาบังคับใช้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หากมีการห้ามนำเข้าโดยไม่มีมาตรการรองรับ อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนสินค้าส่งออกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลห่วงใยปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 2.5 อย่างมาก ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่เราต้องรีบแก้ไข กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาฝุ่น และรักษาสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งต้องคิดอย่างเป็นระบบและรอบคอบมากที่สุด โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการจนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมยืนยันว่าจะติดตามและประเมินผลมาตรการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการลดมลพิษและรักษาเสถียรภาพด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

 

นายชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

2. สรท.ชี้ ระเบิดเวลาภาษีสหรัฐใกล้แตก จี้ศึกษา 3 โมเดล เตรียมเจรจาต่อรอง (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ณ เดือนมีนาคม 2568 ทางสรท.ยังคาดการณ์การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ 1-3% ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าว ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายด้านภาษีของสหรัฐ ที่ประกาศจะใช้อัตราภาษีต่างตอบแทน หรือภาษีตอบโต้ โดยจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าในอัตราเดียวกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสหรัฐ ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เผยว่าจะมีการใช้ความยืดหยุ่นต่อแผนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) จะมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ หลังจากมีหลายฝ่ายเข้าพบเพื่อขอรับการยกเว้น โดยเรื่องดังกล่าวสหรัฐเปิดโอกาสให้ประเทศคู่ค้าในการเจรจาต่อรอง ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) เป็นเทรดดีล ซึ่งความน่ากังวลคือผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ในเรื่องนี้ ประเทศไทยควรศึกษาแนวทางการเจรจา โดยศึกษาข้อมูลจาก 3 กลุ่ม เพื่อไว้เตรียมไปเจรจากับสหรัฐได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง ประเทศที่สหรัฐมีการปรับขึ้นภาษีและมีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ จีน แคนาดา เม็กซิโก, กลุ่มที่ 2 ประเทศที่กำลังมีการเจรจากับสหรัฐ ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) อินเดีย และกลุ่มที่สาม ประเทศที่ยังไม่ถูกขึ้นภาษี เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ว่ามีแนวทางในการเจรจากับสหรัฐอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเจรจาของไทยกับสหรัฐ ทั้งนี้ หากสหรัฐมีการปรับขึ้นภาษี สินค้าไทยในกลุ่มหลักๆ ที่จะได้รับผลกระทบในการส่งออกไปสหรัฐอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ที่น่าห่วง คือ นโยบายดึงการลงทุนกลับสหรัฐในสินค้าด้านเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไทยจะยังได้อานิสงส์จากการลงทุนต่างประเทศในไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่งสินค้าด้านเทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB Board) ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเบา สามารถก่อสร้างโรงงานได้ง่ายและเร็วกว่าอุตสาหกรรม น้ำมัน หรือปิโตรเคมี สามารถที่จะย้ายกลับไปสหรัฐได้ง่าย หากมีสิทธิประโยชน์ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับ

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาในระยะเวลาอันสั้นนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยที่ทำการค้ากับสหรัฐควรมีแผนรองรับความเสี่ยง อาทิ การมองหาตลาดอื่นชดเชย การหารือกับผู้นำเข้าหรือทูตพาณิชย์อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเตรียมรับการรับมือร่วมกัน และเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่อย่างเต็มที่ เนื่องจากสงครามการค้าในครั้งนี้คาดมีความรุนแรงยาวนาน และจะสร้างความยุ่งเหยิงในการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในเวลานี้เหมือนระเบิดเวลาใกล้เข้ามาทุกวัน เพราะฉะนั้นไทยต้องมีแผนตอบโต้ความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาจจะถอดบทเรียนจากประเทศที่ถูกขึ้นภาษีไปแล้ว และประเทศต่างๆ รอบบ้านเราว่าเขามีมาตรการอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของไทยเพื่อมองไปข้างหน้าในระยะยาวด้วย

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ยอดขาย-ผลิตรถยนต์วูบต่อ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ยานยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า ยังไม่ดีขึ้นและมียอดผลิตลดลงต่อเนื่อง โดยการผลิตรถยนต์มี 115,487 คัน ลดลง 13.62% เนื่องจากการผลิตขายในประเทศลดลง 21.26% โดยเฉพาะรถกระบะที่ยังคงลดลง 42.10% ตามยอดขายรถกระบะที่ลดลง และผลิตส่งออกลดลง 9.48% โดยเฉพาะรถยนต์นั่งลดลงถึง 47.01% ตามยอดส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ของปีผลิตได้ 222,590 คัน ลดลง 19.29% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดผลิตของรถยนต์นั่งจำนวน 74,277 คัน เท่ากับ 33.37% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 27.85% ทั้งนี้ เป็นรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาป 32,349 คันลดลง 48.02 % รถยนต์นั่ง ประเภทไฟฟ้า 3,907 คัน เพิ่มขึ้น 174.95% รถยนต์นั่งไฮบริด 33,629 คัน ลดลง 12.31% ส่วนรถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ 146,621 คัน เท่ากับ 65.87% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 12.22% ซึ่งในขณะนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ต้องติดตามทั้งมาตรการช่วยเหลือรถกระบะในโครงการรถกระบะพี่ มีคลังค้ำ งานมอเตอร์โชว์ รวมทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์ของสหรัฐ วันที่ 2 เมษายน 2568 ว่าจะมีประเทศไหนบ้าง และบางประเทศ คู่ค้าลดคำสั่งซื้อเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐบางประเทศคู่ค้ามีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกเข้ามามีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น บางประเทศคู่ค้ามีกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจอห์นสัน จาง ผู้จัดการทั่วไป อวทาร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด กล่าวว่า ปีนี้อวทาร์ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 1,500 คัน โดยเป็นยอดจองจากปลายปีที่ผ่านมา 1,000 คัน ขณะนี้ได้มอบไปแล้ว 500 คัน ดังนั้นที่เหลืออีก 500 คัน จะขายในปีนี้เชื่อว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเตรียมขยายโชว์รูม 4 แห่ง และ อีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะเป็นหัวเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด สำหรับนโยบายธุรกิจของอวทาร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งโอเชียเนียปีนี้ ตั้งเป้าหมายขายไว้ที่ 3,000 คันโดย 50% เป็นยอดขายจากไทย ที่ผ่านมาในช่วง 1 ปี อวทาร์ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี และจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมที่สุด ทั้งในส่วนของการเป็นรถพรีเมียม สมรรถนะรวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ใส่ไว้ในรถอวทาร์ ขณะเดียวกันบริษัทจะไม่เข้าไปเล่นสงครามราคา หรือลดราคาลง แม้มีบางค่ายได้ปรับลดลงไป เนื่องจากว่ากลุ่มลูกค้าเป็นเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรถที่มีสมรรถนะและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างแท้จริง

 

ข่าวต่างประเทศ 

A flag with a red circle and black lines

AI-generated content may be incorrect.

 

4. ความเชื่อมั่นธุรกิจเกาหลีใต้ฟื้นครั้งแรกรอบ 5 เดือน แต่แนวโน้มเม.ย. ส่อแววร่วง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยผลสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยแนวโน้มสำหรับเดือนเมษายนกลับดูไม่สดใส ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ โดยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจรวม (CBSI) สำหรับทุกอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2568 ขยับขึ้น 1.4 จุดจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 86.7 นับเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ดัชนีดังกล่าวเคยร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนี CBSI เป็นตัวชี้วัดมุมมองขององค์กรที่มีต่อสภาพธุรกิจ โดยค่าที่ต่ำกว่า 100 หมายความว่าผู้ที่มีมุมมองในแง่ลบมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีมุมมองในแง่บวก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า แนวโน้มความเชื่อมั่นสำหรับเดือนเมษายน 2568 กลับลดลง 2.4 จุด ไปอยู่ที่ 85.6 เจ้าหน้าที่ BOK ให้ความเห็นว่า ผู้ส่งออกเริ่มกังวลว่าสถานการณ์ทางธุรกิจอาจแย่ลงจากนโยบายภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนสูง และจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด      

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)