ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สมอ. จัด มหกรรมสินค้ามาตรฐานราคาโรงงาน ราคาถูก-ลดสูงสุด 50% ถึง 28 มี.ค.นี้ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดงาน "มหกรรมสินค้ามาตรฐานราคาโรงงาน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 56 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในระหว่างวันที่ 24-28 มีนาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาประหยัด เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ทางด้านผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตชุมชน ที่ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยตลอดระยะเวลา 56 ปีที่ผ่านมา สมอ. ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำการมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้าด้วยการกำกับดูแลคุณภาพของสินค้า ที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้จัดงาน "มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน" มาแล้ว 4 ครั้ง ในปี 2558 - 2559 ปี 2562 และ ปี 2567 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน สำหรับการจัดงานในปีนี้ มีผู้ประกอบการ จำนวน 61 ราย รวม 106 บูธ เข้าร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐาน ราคาโรงงาน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด 20 - 50% เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องนวดเพื่อสุขภาพ พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม ลำโพง เครื่องเสียง หลอดไฟ ปลั๊กพ่วง วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ในห้องน้ำ อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ และพาวเวอร์แบงค์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก ภาชนะเทฟลอน ของเล่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำตาลทราย และสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมถึงสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เช่น ผลไม้แปรรูป ผักและผลไม้ทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด ปลาสลิดทอดกรอบ น้ำพริกปลาสลิด เสื้อผ้าใยกันชง สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผม และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ
2. ทีเส็บ ชู Big Data ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในระดับสากล (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568)
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้เปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายใต้ "MICE Data Platform" ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระดับสากล และเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยแผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมไมซ์ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 - 2570) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านข้อมูล ส่งเสริมการใช้ข้อมูลในอุตสาหกรรมไมซ์ และยกระดับธรรมาภิบาลข้อมูล ทั้งนี้ MICE Data Platform มีคุณสมบัติและบริการที่สำคัญ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ข้อมูลอัจฉริยะในรูปแบบ Interactive Dashboard: รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ICCA, WEF, GDS และ CEIC เพื่อแสดงสถิติอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย เปรียบเทียบศักยภาพกับประเทศในภูมิภาค และวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง 2. การเชื่อมโยงข้อมูลกับ Travel Link: ร่วมมือกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Travel link ในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ข้อมูลมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 3. บทวิเคราะห์เชิงลึก (Insight Report): วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ และ 4. บริการเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ (Open Data) และ API (Application Programming Interface): เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้แพลตฟอร์ม คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมด้านการวิจัย เป็นต้น
นายพิชิต มิทราวงศ์
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดีแบงก์
3. เชื่อมั่น 'เอสเอ็มอี' ทะยาน ห่วงสารพัดต้นทุนตัวฉุด (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568)
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดีแบงก์ เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีในไตรมาสแรก ปี 2568 พบว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนดัชนีรวมเพิ่มขึ้นจาก 55.21 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็น 62.40 โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ เพราะมีคำสั่งซื้อและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เรื่องต้นทุนการประกอบธุรกิจยังเป็นปัจจัยกดดัน ขณะที่ปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเสถียรภาพของปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พบว่าบรรดาวิสาหกิจรายย่อยมีดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น อยู่ที่ 65.20 สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่เอสเอ็มอีภาคการผลิตและการท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งเชื่อมั่นใกล้เคียงกันในทุกภูมิภาค และใกล้เคียงกันทั้งเมืองใหญ่และเมืองรอง โดยเอสเอ็มอียังกังวลต้นทุนวัตถุดิบ บริการ ราคาพลังงานผันผวน รวมถึงดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ส่วนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เอสเอ็มอี มีความเชื่อมั่นภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 70.10 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน จากแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภค การขยายตัวของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการประกอบธุรกิจ จะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย ยังเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อในอีก 3 เดือนข้างหน้า คิดเป็น 52.20% เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสัดส่วน 41.20% และเพื่อลงทุน 11% แม้ความต้องการลงทุนจะเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจไม่ได้สูงมากนัก
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนขยายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตครอบคลุมอุตฯ เหล็ก-ซีเมนต์-อะลูมิเนียม (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568)
กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีน เปิดเผยว่า จีนมีแผนที่จะขยายตลาดในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และการถลุงอะลูมิเนียม ซึ่งจะทำให้บริษัทในจีนอีกกว่า 1,500 แห่ง ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตไว้เพื่อชดเชยในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดยปริมาณนั้นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ กลไกดังกล่าวจึงสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนลงนั่นเอง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โครงการคาร์บอนเครดิตของจีนครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 5 พันล้านเมตริกตัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านไป๋ เสี่ยวเฟย โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน กล่าวว่า การขยายตลาดคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้จะทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ภายใต้โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านเมตริกตัน หรือมากกว่า 60% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของจีน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)