ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกณัฏ' สั่ง 'กรอ.' เข้มโรงน้ำแข็งสแกน 2,341 ราย สกัดแอมโมเนียรั่ว (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลจากระบบทำความเย็นบ่อยครั้ง ได้สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้การดำเนินกิจการโรงงานประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างปลอดภัย และปกป้องประชาชนโดยรอบจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หลังจากเกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลจากระบบทำความเย็นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของระบบทำความเย็นอย่างเคร่งครัด หากพบการละเลย หรือฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ตั้งแต่คำสั่งให้แก้ไขปรับปรุง การสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ไปจนถึงการสั่งปิดโรงงานถาวร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่ยั่งยืนและปกป้องสวัสดิภาพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการ โดยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ฉบับ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบทำความเย็นแอมโมเนีย ได้แก่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ การจัดทำและส่งรายงานข้อมูลการติดตั้งซ่อมแซมและดัดแปลง และยกเลิกการใช้งานระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 8 ธันวาคม 2567 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีโรงงานที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ 2 ฉบับนี้ จำนวน 2,341 โรง แบ่งเป็น โรงน้ำแข็ง 1,880 โรง โรงห้องเย็น 461 โรง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. พิชัยถกจีนผ่อนตรวจทุเรียน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568)
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายสือ ยวี่กาง รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนานของจีน ที่เมืองไทย เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน พร้อมผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทย อาทิ ทุเรียน ข้าว และวัว ผ่านเส้นทางขนส่งสำคัญสู่ยูนนาน โดยไทยให้ความสำคัญกับจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานซึ่งเป็นประตูสำคัญเชื่อมจีนกับอาเซียน โดยปีนี้ผลผลิตทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้นถึง 37% คาดว่ามีปริมาณ 1.76 ล้านตันจึงจำเป็นต้องเร่งกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่ ปีนี้ไทยมีผลผลิตทุเรียนมากขึ้น และเรามีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการสุ่มตรวจสารเคมี บีวาย2 ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้า ไทยได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยได้กำกับดูแลและยกระดับการตรวจสอบผลไม้ก่อนส่งออก จึงขอความร่วมมือจากทางการจีนให้ผ่อนปรนการตรวจสอบ เป็นกรณีพิเศษในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อทุเรียนไทย นอกจากนี้ยังขอให้จีนพิจารณาสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ลำไย มังคุด อินทผลัมและสละเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังขอให้จีนสนับสนุนการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางลาว-ยูนนาน โดยเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพด่านโม่ฮาน เพิ่มระยะเวลาทำการ และเพิ่มช่องตรวจปล่อยสินค้าให้ทันต่อฤดูกาลส่งออก นอกจากนั้น ยังได้ขอให้จีนเร่งรัดการซื้อข้าวปริมาณ 280,000 ตัน ตามข้อตกลงเดิม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีผลผลิตข้าวจำนวนมาก พร้อมทั้งผลักดันการส่งออกโคมีชีวิตและเนื้อสัตว์แช่แข็งผ่านท่าเรือกวนเหล่ย เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ขอให้ช่วยสนับสนุนด้านการค้าเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสือ ยวี่กาง กล่าวว่า ข้อเสนอของไทยจะถูกนำกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจีนพร้อมให้การสนับสนุนไทยในด้านการค้า โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านขนส่งสินค้าทางรถไฟจีนลาว และการค้าข้ามพรมแดนผ่านท่าเรือกวนเหล่ย และขอให้ไทยร่วมมือกับจีน สปป.ลาว และเมียนมา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และเชิญตัวแทนไทยเข้าร่วมงานแฟร์สำคัญที่คุนหมิงในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศได้เจรจาความร่วมมือทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์
3. สนค.ชี้จับตา 6 ปัจจัยเสี่ยง กระทบดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับ 110.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางกลุ่มที่ปรับลดลงจากอุปทานส่วนเกิน และการแข่งขันทางด้านราคา ประกอบกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางการผลิตของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลให้ราคาส่งออกของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ทางด้านดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับ 114.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.0% (YoY) ตามความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิต การลงทุน และการบริโภคของประเทศ ทั้งนี้ ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการสินค้าส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวดี รวมถึงการนำเข้าสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางด้านราคาของไทยในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ถึงแม้จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. ฐานราคาปี 2567 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 2. สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรบางประเภท ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 3. สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี 4. ราคาพลังงานและวัตถุดิบ ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และ 5. การเร่งนำเข้าสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นสำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจช้ากว่าที่คาด 2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค 3. ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงน้อยกว่าปี 2567 อาจส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจนนำมาสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน 5. การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และ 6. ความผันผวนของค่าเงินบาท
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเตรียมรับมือภาษีรถทรัมป์-หวั่นศก.ถดถอย (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568)
นายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทั่วโลกไปยังสหรัฐเป็น 25% โดยมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้าว่า ญี่ปุ่นจะพิจารณาทางเลือกทั้งหมดเพื่อตอบสนองต่อการประกาศของวอชิงตันดังกล่าว ในการชี้แจงต่อรัฐสภา โดยระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในสหรัฐมากที่สุด เราจึงสงสัยว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่สหรัฐจะบังคับใช้ภาษีแบบเดียวกันกับทุกประเทศ นั่นคือประเด็นที่เราพูดมาตลอดและจะยังคงพูดต่อไป ซึ่งเราต้องพิจารณาว่าอะไรดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์แห่งชาติ และเรากำลังพิจารณาทุกทางเลือกในการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐอาจผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจาก ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 28.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐในปี 2024 ขณะที่ราคาหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น ก็ร่วงรับข่าวร้ายทันที โดยอุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของจีดีพีของญี่ปุ่น และเป็นแรงผลักดันให้ค่าจ้างปรับขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์จ่ายกำไรมหาศาลที่ได้รับจากต่างประเทศให้กับพนักงานของตน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านทาคาฮิเดะ คิอุจิ นักเศรษฐศาสตร์บริหารของสถาบันวิจัยโนมูระ คาดว่า การขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 0.2% และยังมีศักยภาพพอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทันที
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)