ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. “เอกนัฏ” เห็นความผิดปกติตึกสตง.ถล่ม สั่งเก็บตัวอย่างของเหล็กส่งตรวจสอบคุณภาพ (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเดินทางมาตรวจสอบจุดตึกสำนักงาน สตง.ถล่มว่าต้องมาเก็บตัวอย่างวัสดุ เพราะนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งให้กรมโยธาธิการเป็นผู้สอบสวนว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นคืออะไร และมีตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของสาเหตุตึกสตง.ถล่ม อาจมีหลายสาเหตุ ต้องดูตั้งแต่แบบก่อสร้าง การก่อสร้างตรงตามแบบหรือไม่ วัสดุตามแบบหรือไม่ ได้มาตรฐานมีคุณภาพหรือไม่ โดยที่ผ่านมาเคยเจอว่ามีสินค้าหลายตัวที่ได้มอก. แต่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ หรือเหล็ก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบเหล็กทั้งหมด 6 ประเภท ทั้งเหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 4 อัน เหล็กกลม 2 อัน ขนาด 9 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียว แต่ว่ามีเหล็กบางประเภท ที่มาจากผู้ผลิต 3 ยี่ห้อ ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าตัวอย่างทุกตัวอย่างเก็บจากสถานที่จริง และจะนำของกลางทั้งหมดไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ว่าเป็นเหล็กมีคุณภาพหรือไม่ เพื่อความโปร่งใส ซึ่งการเก็บตัวอย่างเหล็กจะไม่ให้กระทบกับช่วยเหลือในพื้นที่อย่างแน่นอน จึงเป็นการเก็บเหล็กในส่วนรอบนอก
อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากพูดไปล่วงหน้าก่อนจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ว่าเป็นเหล็กปลอมหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเห็นความผิดปกติ เห็นว่าขนาดเหล็กเป็นอย่างไร มาจากผู้ผลิตรายใด เมื่อได้ผลตรวจจะส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ขณะนี้ยังไม่อยากปรักปรำใคร ทั้งนี้ หากเหล็กมีปัญหามาจากผู้ผลิตรายใดก็จะต้องสั่งให้โรงงานหยุดผลิตเพื่อปรับปรุง ไปจนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต มอก. และถูกดำเนินคดี
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์
2. อุตฯ-ส.อ.ท.เตรียมความพร้อม รับมือร่างกฎหมายกากอุตฯ โฉมใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2568)
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสายงานกฎหมายและภาษี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "ร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม" ซึ่งการบรรยายครั้งนี้ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ..... ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเน้นการปฏิรูปโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามมาตรฐานในระดับสูงสุด ควบคู่ไปกับการเสนอให้แยกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมออกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยังได้เพิ่มมาตรการควบคุมเขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อป้องกันการนำเข้าหรือเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการควบคุมตั้งแต่แหล่งกำเนิดของกากอุตสาหกรรมจนถึงปลายทาง เพื่อให้สามารถกำจัด/บำบัดได้อย่างครบวงจร และถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 400 คน ซึ่งทางสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งสนับสนุนแนวคิดในการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนในประเทศไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ติดตามการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกลไกการจัดการรวบรวม คัดแยก ทำลาย กากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนและการวางหลักประกันความเสียหาย เพื่อใช้ในการเยียวยาเบื้องต้นสำหรับความเสียหายต่อบุคคล ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้บริหาร และสมาชิกส.อ.ท.ได้รับทราบ และสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะครอบคลุมการดำเนินงาน รวมถึงสร้างมาตรการและกลไกต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอรุกดึงอินเดียรายเป้า 3 กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (ที่มา: ทันหุ้น, ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการนำคณะบีโอไอเยือนเมืองไฮเดอราบัด และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อพบหารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเดียในอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวม 15 บริษัท สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ บีโอไอได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอินเดียที่อยู่ในเขต Medical Device Park เพื่อนำเสนอข้อมูลการลงทุนและมาตรการสนับสนุนด้าน Medical Hub และยังได้หารือรายบริษัท เช่น บริษัท Sahajanand Medical Technologies (SMT) ผลิตอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอันดับ 1 ของอินเดีย มีแผนลงทุนในไทยเพื่อผลิตลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์ขดลวดถ่าง (Stent) สำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูน และมีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย รวมถึงบริษัท MSN Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก โดยมีแผนลงทุนทำวิจัยในไทย และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน บริษัท ACG Capsules ผู้ผลิตแคปซูล ยาเม็ด และเครื่องจักรบรรจุยารายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท เพื่อผลิตแคปซูลจากเจลาตินและพืชด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยด้วย และบริษัท Natural Remedies ผู้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรสำหรับปศุสัตว์อันดับ 1 ของอินเดีย และอันดับ 3 ของโลก มีแผนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย และศูนย์วิจัยของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำ เช่น ซีพี, เบทาโกร และสหฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ทางด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะบีโอไอได้หารือกับบริษัท TATA Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย มีแผนรุกขยายธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถบรรทุก และรถบัส) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเพิ่งมีการดึงผู้บริหารชาวอินเดียจากค่ายรถยนต์ รายใหญ่ในประเทศไทย ให้ไปคุมทัพด้านการขยายธุรกิจรถยนต์นั่งของกลุ่ม TATA Motor ในต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คณะบีโอไอได้หารือกับนายกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย (India Electronics and Semiconductor Association IESA) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท นอกจากนี้ ยังได้หารือแผนลงทุนของ บริษัท Tessolve Semiconductor ซึ่งทำตั้งแต่การออกแบบชิป (IC Design) การทดสอบชิป การออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการให้บริการอบรมด้านวิศวกรรมแก่บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลก โดยภายในปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิปและให้บริการทางวิศวกรรมแก่บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยด้วย ทั้งนี้ อินเดีย ถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดของโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และการเยือนอินเดียครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนอินเดียมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักในอาเซียน
ข่าวต่างประเทศ
4. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นเดือนก.พ. โตชะลอต่ำคาด หวั่นเศรษฐกิจเจอแรงกดดันเพิ่ม (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2568)
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยรายงานว่า การเติบโตของยอดค้าปลีกญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.0% และส่งสัญญาณถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงภายนอก โดยการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีดังกล่าวถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตที่ 4.4% ในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 0.5% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การบริโภคภายในประเทศจะอ่อนแอลง และเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐฯ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตและการค้าโลก โดยความกังวลมีสูงเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภาคการส่งออกที่สำคัญยิ่งของญี่ปุ่น โดยบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อการลงทุนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ โดยตัวเลขการบริโภคที่ค่อนข้างซบเซานี้ยิ่งเพิ่มความกังวลว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ขณะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากภายนอก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)