ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ดีพร้อม-บางจาก-5 พันธมิตร ผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 เมษายน 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ จึงมอบหมายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ผสานความร่วมมือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น และ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือที่เรียกว่า SAF ผ่านกลไกความร่วมมือ MOU "การบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy" เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำแนวทางการส่งเสริมการผลิต SAF และศึกษาวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิต SAF โดยเฉพาะ UCO ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย รวมถึงเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF โดยเป็นการลงนามใน MOU ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น และพันธมิตรภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันปรุงอาหาร ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางอากาศ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระยะแรกของความร่วมมือมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับการผลิต SAF ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ มีขอบเขตการดำเนินงานตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ แนะนำ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และความตระหนักตลอดโซ่อุปทานในกระบวนการรวบรวม UCO สู่การเพิ่มมูลค่าเป็น SAF ตามแนวทาง BCG Model อีกทั้ง ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก UCO โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเกิดการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่เพียงเป็นการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินของประเทศยังส่งผลถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
2. รีแบรนด์ไทยซีเล็คท์ ยกระดับ 'ร้านอาหาร' (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 เมษายน 2568)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลให้อาหารไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันดับ 1 ของประเทศ ที่สามารถสร้างการจดจำแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญ เนื่องจากอาหารไทยสะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้ดีที่สุด กรมจะยกระดับและพัฒนามาตรฐานร้านอาหารไทยจากร้านอาหารไทยธรรมดาๆ ให้เป็นซุปเปอร์ร้านอาหารไทยที่อบอวลด้วยบรรยากาศแบบไทย อาหารมาตรฐานไทยแท้ นำมาซึ่งตราสัญลักษณ์ Thai SELECT การันตีความมีคุณภาพร้านอาหารไทยแท้ที่นักท่องเที่ยวสามารถรับรู้ได้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย สร้างความประทับใจ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 31 มีนาคม 2568 มีร้านอาหารไทยในประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT แล้ว 496 ร้าน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 กรมเชิญชวนร้านอาหารไทยทั่วประเทศ ที่เปิดให้บริการมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และมีที่นั่งให้บริการภายในกว่า 10 ที่นั่ง มีเมนูอาหารไทยกว่า 70% มีหัวหน้าพ่อครัวหรือหัวหน้าแม่ครัวที่เป็นคนไทยหรือมีใบรับรองผ่านงาน สภาพแวดล้อมสะอาด ถูกสุขอนามัยและสวยงาม สมัครเข้ารับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มีอายุ 3 ปีนับจากวันที่ได้รับตรา ซึ่งร้านอาหารที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย เชื่อมโยงร้านอาหารกับการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อีกทั้งสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก ซึ่งในกลางเดือนเมษายนนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมรีแบรนด์ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้ทันสมัย สร้างความจดจำ เปรียบเสมือนมิชลินสตาร์ร้านอาหารไทย ถือเป็นก้าวสำคัญผลักดันอาหารไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
ประธานกรรมการหอการค้าไทย
3. ชู 4 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 2 เมษายน 2568)
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การรับตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยในปีนี้ ภายใต้ความท้าทาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจสังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ 4 แนวทางหลัก โดยมั่นใจว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตได้ 3% และการส่งออกยังมีทิศทางที่ดีในปีนี้ สำหรับ 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. เสริมความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทยให้สอดคล้องกับซัพพลายเชนโลก 2. เร่งการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ และเศรษฐกิจยั่งยืน โดยเฉพาะภาคธุรกิจไทยที่ยังขาดความพร้อมในการปรับใช้เทคโนโลยีและแนวทาง ESG เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจในอนาคต 3. ยกระดับศักยภาพคนไทยและสร้างเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ต้องการแรงงานที่มีทักษะแห่งอนาคตเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอี และ 4.ส่งเสริมสมาชิกเครือข่ายหอการค้าฯ, เอสเอ็มอีให้เข้มแข็งและเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายนานาชาติ เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยเผชิญกับปัญหาอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ต้นทุนสูง และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาล ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้คงต้องทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปที่การช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหวก่อน แต่หลังจากนั้นก็ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและมองว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน หรือการแจกเงินหมื่นบาท ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรต่างประเทศก็ทำเหมือนกันแต่อยากให้แจกให้ตรงจุดตรงกลุ่มเป้าหมายทำให้ถูกวิธี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องสร้างงาน ให้ประชาชนด้วย ส่วนการฟื้นการบริโภคในประเทศนั้น ต้องการให้หน่วยงานด้านการเงินช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนก่อน เพราะขณะนี้หนี้ครัวเรือนสูงมาก ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อสำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้นั้น ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แต่ต้องขึ้นอย่างสมดุล และถูกต้องตามหลักกฎหมายคือ ขึ้นตามมติของคณะกรรมการไตรภาคีไม่ใช่ขึ้นตามความต้องการของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเดินหน้าทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู), ไทยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), อาเซียน-แคนาดา เพื่อให้สามารถเจรจาได้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งหากเสร็จเร็วและมีผลบังคับใช้เร็วจะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวได้มากกว่าปีละ 1% และจะไม่เสียเปรียบการแข่งขันกับเวียดนามแน่นอน แต่ในการเจรจาไม่อยากให้เน้นเรื่องการเปิดตลาด หรือลดภาษีนำเข้าสินค้าอย่างเดียว แต่อยากให้คำนึงถึงมาตรฐาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านการศึกษาด้วย
ข่าวต่างประเทศ
4. สหรัฐเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานต่ำกว่าคาดในเดือนก.พ. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 เมษายน 2568)
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 194,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 7.57 ล้านตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่วต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.61 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 7.76 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคม โดยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานได้รับผลกระทบจากนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนี้ ตัวเลขการปลดออกจากงานเพิ่มขึ้น 116,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 1.79 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)