ข่าวในประเทศ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
1. 'ไทย-เนปาล' ลงนามร่วมมือ 8 ฉบับ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2568)
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ได้ให้การต้อนรับนายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่มีความสำคัญ ดังนี้ ความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและเนปาล พร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายมีกลไกความร่วมมือที่สำคัญ คือ การประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Commission Meeting) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการหารือและขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเห็นพ้องที่จะสนับสนุนให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์สูงสุดจากกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีเนปาล ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามและการแลกเปลี่ยนความตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จำนวน 8 ฉบับ ดังนี้ 1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความ ร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย-เนปาล 2. ความตกลงทาง วัฒนธรรม ไทย-เนปาล 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าเนปาล (Nepal Chamber of Commerce) 4. บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกับสถาบัน Nepal Netra Jyoti Sangh (NNJS) 5. บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับบริษัท Jantra Agro and Forestry 6. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสยามกับมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ 7. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์หอการค้าและ อุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Federation of Nepalese Chambers of Commerce & Industry: FNCCI) และ 8. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Confederation of Nepali Industries: CNI)
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับผู้นำเนปาลและคณะ ในการมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 66 ปี ไทยและเนปาลมีความสัมพันธ์ที่มีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน การเยือนครั้งนี้จะช่วยกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้น และเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต ส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสริมสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า และพัฒนาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน และไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในตลาดเนปาลมากขึ้น
นายทวี ปิยะพัฒนา
รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. กกร. ชี้จีดีพีโตต่ำกว่าคาด หลังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2568)
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้จีดีพีปี 2568 ต่ำกว่าที่เคยคาดจากกรอบประมาณการเดิมอยู่ในช่วง 2.4-2.9% ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบบางส่วนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไว้แล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนถึงขนาดและขอบเขตของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนวันนี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกราว 0.2-0.6% ทั้งนี้ กกร. ยังคงประมาณการส่งออกอยู่ที่ 1.5 - 2.5% เงินเฟ้อ 0.8 - 1.2% นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้ช้าและเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฉะนั้นไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน 1. นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 2. นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงการ สร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้เป็น Moment of opportunity ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน จากทั้งเรื่องของสงความการค้า และเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งในส่วนกระบวนงานของส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่ควรมีการปฏิรูป โดยให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ประกอบการพิจารณาแผนการรับมือและการจัดการกับปัญหา
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล
นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
3. จี้ใช้ 'ภาษี' กระตุ้นตลาดรถโต (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2568)
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในไทยในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมาลดลงกว่า 10% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดการผลิตรถยนต์ที่ตั้งเป้าเอาไว้ 1.5 ล้านคัน หรือเติบโต 2% โดยปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว การปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดรถยนต์ไม่เติบโตและปัจจัยบวกยังเป็นการลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยว และรัฐบาลผ่านการอภิปรายมาได้ แสดงถึงความมั่นคง ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ทางด้านมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล เช่น กระบะพี่มีคลังค้ำ 5,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เพียง 2% ของตัวเลขยอดขายที่หายไปเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่หากรัฐทำได้ในโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จก็สามารถต่อยอดไปยังกลุ่มนอนแบงก์ นอกจากนี้สมาคมฯ ได้เสนอต่อภาครัฐ เพื่อออกมาตรการกระตุ้นตลาดในระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือบำรุงรักษายานยนต์มาใช้ลดหย่อนภาษี มาตรการภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า จากเดิมที่ได้ 1 เท่า พร้อมขยายเพดานสำหรับรถที่ผลิตในประเทศ ขณะที่มาตรการด้านสินเชื่อ อนุญาตให้สามารถกู้ร่วมได้ พร้อมการพิจารณารายได้ของครอบครัวในการประเมินสินเชื่อ รวมถึงออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อในการซื้อรถยนต์
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2567 ไทยยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก แต่มีการผลิตที่ลดลง 20.2% และมียอดจำหน่าย 572,000 คัน ลดลง 26% ตกไปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนเป็นครั้งแรก ขณะที่การส่งออกก็ได้รับผล กระทบจากเศรษฐกิจโลกหดตัว ทำให้ตัวเลขลดลง 9%
ข่าวต่างประเทศ
4. "ทรัมป์" ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้แล้ว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 เมษายน 2568)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้มีการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ในขณะที่จะเก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ บางประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนที่ถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20% ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถ้วนหน้าเช่นกัน นำโดยกัมพูชา 49%, ลาว 48% เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10% ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวระบุว่า ภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลจะมีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 ขณะที่ภาษีศุลกากรตอบโต้ซึ่งมุ่งเป้าไปที่คู่ค้าของสหรัฐฯ ประมาณ 60 ประเทศนั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้จะคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่สินค้าสหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บจากคู่ค้าเหล่านั้น ทั้งประเทศคู่แข่งและพันธมิตร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงานเพิ่มในสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการภาษี "ตอบโต้" เป็นการตอบโต้ต่อภาษีที่เรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ และเชื่อว่าอัตราภาษีใหม่นี้จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการผลิตในสหรัฐฯ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)