ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' ย้ำ เหล็ก 'ซินเคอหยวน' ตก มอก. ไม่มีสิทธิ์ตรวจซ้ำที่อื่น (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ “ทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม” ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ภายหลังผลตรวจสอบคุณภาพเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างมาจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม (อาคาร สตง. ถล่ม) ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) อีกทั้งก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งปิดโรงงานของบริษัทฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานในหลายประเด็น อีกทั้ง ยังมีการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงฯ จึงได้ทำการยึดอายัดเหล็กทั้งหมดไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 จำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท พร้อมเรียกคืนเหล็กจากท้องตลาดที่ผลิตจากบริษัทฯ คืนทั้งหมด และได้ดำเนินคดีกับบริษัทฯ อย่างถึงที่สุด ทั้งนี้ หลังจากที่นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนลงพื้นที่กับผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงาน ซินเคอหยวน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เพื่อตรวจสอบว่ามีการลักลอบนำเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานและยึดไว้เป็นของกลางนำมาจำหน่ายหรือไม่นั้น ยังพบเหล็กที่โดนอายัดอยู่ แต่สิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ ซินเคอหยวน จะนำเหล็กที่ตรวจสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แล้วไม่ผ่านเกณฑ์ จึงจะขอส่งไปให้สถาบันยานยนต์ตรวจสอบแทนนั้น นายเอกนัฏ ยืนยันว่าไม่ยอม เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะเครื่องมาตรฐานที่มีมาตรฐานบังคับสำหรับเหล็กทั้งเหล็กข้ออ้อยและเหล็กกรมจะต้องเป็นไปตามมาตราฐานเดียวกัน "ตกก็คือตก" แล้วจะตรวจจนผ่านเลยเหรอเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ต้องแยกการตรวจสอบ คือ การตรวจของกระทรวงอุตสาหกรรมมี 2 รอบ คือ เมื่อเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งคุณสมบัติทางเคมีที่ค่าโบรอนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และรอบ 2 คือ ตึก สตง. ถล่ม พบเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร มีมวลน้ำหนักเหล็กเบากว่ามาตรฐานและเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่หนักกว่ารอบแรกด้วยซ้ำ ยืนยันว่าการตรวจสอบตรงไปตรงมา ดังนั้น การตรวจพบใน 2 กรณีได้บ่งบอกถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานทางการผลิต ทั้งนี้ ยกตัวอย่างถ้าผลิต 100 ชิ้น แล้วตกมาตรฐาน 1 ชิ้น ก็ถือว่ามีปัญหา ก็ต้องทิ้งทั้ง 100 ชิ้น การเก็บมา 2 รอบนี้ พบว่ามีเหล็กหลายขนาดที่ตกมาตรฐาน บ่งบอกถึงมาตรฐานกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้มาตรฐานเท่ากัน
นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. เหล็กไร้มาตรฐานอันตราย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568)
นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญจากแรงกดดันของการแข่งขันด้านราคาและกระแสการนำเข้าสินค้าเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเหล็กทรงยาวเช่นเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากระบบเตาหลอมเหนี่ยวนำ หรือ Induction Furnace (IF) แม้ว่าเทคโนโลยี IF จะมีข้อดีในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่กลับมีข้อจำกัดในด้านการควบคุมคุณภาพและสิ่งแวดล้อมทำให้เหล็กที่ได้มีความไม่สม่ำเสมอ และมีความเปราะ ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโครงสร้างสำคัญที่ต้องรองรับแรงและการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่อง จะเหมาะไปใช้ เช่น การทำรั้วบ้าน ทั้งนี้ ประเทศจีนซึ่งเคยมีการผลิตเหล็ก IF มากกว่า 100 ล้านตัน และในปี 2000 ได้มีคำสั่งปิดโรงงานเหล่านี้ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี เนื่องจากไม่สามารถควบคุมมลภาวะและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม เพราะมีตึกถล่มมากในประเทศจีน โดยโรงงาน IF จำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดในประเทศจีน ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่ยังไม่มีข้อจำกัดที่ชัดเจน เช่น ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งแตกต่างจากประเทศในอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ระบบ IF ในการผลิตเหล็กเพื่อจำหน่ายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มเหล็กทรงยาวแล้วยังมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตเหล็กจากประเทศจีนบางรายจะขยายการใช้เตา IF มาผลิตเหล็กทรงแบน ได้แก่ เหล็กม้วน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กโครงสร้าง เช่น ท่อเหล็ก เหล็กตัวซี และเหล็กแผ่น ซึ่งเป็นวัสดุหลักในงานโครงสร้างอาคารและโครงสร้างวิศวกรรมอื่นๆ หากไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเป็นระบบเหล็กทรงแบน จากเตา IF อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ยากต่อการตรวจสอบเมื่อถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งในโลกนี้การผลิตเหล็กม้วนดำ ไม่มีใครใช้เหล็กจากเตา IF มีเพียงแต่โรงงานเล็กๆ ในประเทศจีนเท่านั้น โดยในตอนนี้ได้ถูกปิดไปหมดแล้ว แต่มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทย
นายธนากร เกษตรสุวรรณ
กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
3. เผย 4 ปัจจัยฉุดส่งออก สรท.คาดทั้งปีขยายตัวได้ 1-3% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568)
นายธนากร เกษตรสุวรรณ กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,707.1 ขยายตัว 14% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 906,520 ล้านบาท ขยายตัว 9.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 14.6% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,718.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 848,824 ล้านบาท หดตัว 0.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เกินดุลเท่ากับ 1,988.3ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกินดุลในรูปของเงินบาท 57,696 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปี 2568 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 51,984.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,768,887 ล้านบาท ขยายตัว 10.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ขยายตัว 13.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 51,876.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท เท่ากับ 1,786,936 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 เกินดุลเท่ากับ 108.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 18,049 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สรท.คาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% (ณ เมษายน 2568 ยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนเสมือนระเบิดเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. Trade War Trump 2.0 ความไม่นอนของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากมาตรการภาษีศุลกากร ส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น 2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติทั้ง รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส แม้มีข้อตกลงหยุดยิงแต่ยังคงมีการปะทะกันในหลายพื้นที่ 3. ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปัจจัยราคาทองคำ 4. ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล 4.1) ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่จะส่งผลต่อความผันผวนและมีผลต่อการวางแผนการสต๊อกและส่งออกสินค้า 4.2) สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น 4.3) ค่าระวาง ดัชนีรวมปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าระวางเส้นทางไปยังเอเชียปรับเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทางซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้า และ 4.4) ความกังวลเกี่ยวกับมาตรการของสหรัฐฯ ต่อเรือขนส่งสินค้าที่ต่อในประเทศจีน (Chinese-Built vessel)
ข่าวต่างประเทศ
4. มอร์แกนฯ คาดเฟดตรึงดบ.ยาวถึงปีหน้า เหตุภาษีทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568)
มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) เปิดเผยว่า ได้ยกเลิกการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ปีนี้ โดยให้เหตุผลว่าภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศ จะเพิ่มความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยล่าสุดมอร์แกน สแตนลีย์ คาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงเดือนมีนาคม 2569 โดยก่อนหน้านี้ มอร์แกน สแตนลีย์ เคยคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิถุนายน แต่ด้วยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารจึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายจนกว่าเงินเฟ้อจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ มุมมองล่าสุดของมอร์แกน สแตนลีย์ ต่างกับนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ที่ยังคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอ่อนแอลง หรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่เมื่อวันพุธ (2 เมษายน 2568) โดยพุ่งเป้าเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจากหลายประเทศ ซึ่งมอร์แกน สแตนลีย์เตือนว่า มาตรการเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อจากภาษี (tariff-induced inflation) ซึ่งทำให้มีโอกาสน้อยลงที่เฟดจะเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)