ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. อุตฯ จี้คุมโลหะหนัก เข้มมาตรฐาน 'กระดาษสัมผัสอาหาร' (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการผลิตและนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยให้เป็นสินค้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามา และให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ได้สั่งการ สมอ. เร่งประกาศให้กระดาษสัมผัสอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ให้เป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 2 รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ อาจมีปริมาณโลหะหนักและสารเคมีเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า ในการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่ามาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562 เช่น จานกระดาษ ถ้วยกระดาษ และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มอก. 3438-2565 เช่น กระดาษรองอาหารที่ใช้ในหม้ออบลมร้อน หรือกระดาษอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสำคัญ ในการควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม และสารเคมีในกระบวนการผลิตที่เป็นอันตราย ได้แก่ สารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชั้นคุณภาพสัมผัสอาหาร (Food contact grade) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน จะต้องผ่านการทดสอบที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 175 องศาเซลเซียส โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568 นี้
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. รุกจัดอุตสาหกรรมแฟร์ กระตุ้นศก.-รายได้ผู้ประกอบการ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดการประชุมหารือการจัดงาน "อุตสาหกรรมแฟร์" มหกรรมสินค้าโรงงาน ซื้อของไทย ใช้ของดี โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการจัดงานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในเครือสหพัฒน์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยในที่ประชุมร่วมกันพิจารณากำหนดการจัดงาน "อุตสาหกรรมแฟร์" รวม 4 วัน คือ ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2568 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พื้นที่การจัดงานกว่า 28,000 ตารางเมตร ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายผ่านความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และเครือสหพัฒน์ โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 1. มหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค(สหพัฒน์แฟร์) โดย เครือสหพัฒน์ 2. มหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 3. มหกรรมรถยนต์ โดย ดีพร้อม 4. มหกรรมสินค้า SMEs และ OTOP โดย ดีพร้อม ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 5. มหกรรมอาหาร Food Court / Food Truck โดย ดีพร้อม 6. มหกรรมสร้างงานสร้างอาชีพ อบรมฝึกทักษะ SMEs และประชาชน โดย ดีพร้อม และ 7. MOU ระหว่างกระทรวงฯ และกระทรวงคมนาคม การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง โดย ดีพร้อม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ อาทิ บริเวณเวทีกลาง จะมีการจัดสัมมนา สันทนาการการแสดงดนตรี/คอนเสิร์ต การจัดพิธีเปิด พิธีปิด การมอบวุฒิบัตร การประกวดแข่งขันต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมกีฬา เดิน-วิ่ง Strides for the Ozone : Protecting Every Step บริเวณถนนโดยรอบอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
อย่างไรก็ตาม ได้รับความร่วมมือและความอนุเคราะห์งบประมาณการจัดงานจากภาครัฐและเอกชน โดย เครือสหพัฒน์ สนับสนุนการออกบูธ การนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายในราคาประหยัด ส่วน ร.ฟ.ท. สนับสนุนสถานที่ในการจัดงานโดยคิดค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภค พร้อมสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ที่นำสินค้ามาร่วมงาน ขณะที่หน่วยงานของกระทรวงฯ จะสนับสนุนการนำผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ที่มีสินค้าคุณภาพมาร่วมจำหน่ายในงาน และประชาสัมพันธ์การจัดงานผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และ Influencer
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
3. ธุรกิจขนส่งทางอากาศไทย โตรับธุรกิจการบินโลก (ที่มา: สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น., ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2568 นับเป็นปีทองของธุรกิจการขนส่งทางอากาศไทย ทั้งในแง่ของผลประกอบการและผลกำไรที่ผ่านมา และคาดว่าปี 2568 นี้ จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศโลก ที่คาดว่าปี 2568 จะมีรายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลกำไรรวมประมาณ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนผู้โดยสารเกินกว่า 5.2 พันล้านคน และปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศจะสูงถึง 72.5 ล้านต้น ส่งผลให้ปี 2568 ธุรกิจการขนส่งทางอากาศเป็นธุรกิจดาวเด่นทั้งของไทยและของโลก และคาดว่าจะมีอัตราการแข่งขันทางการตลาดที่สูงเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทย ธุรกิจการขนส่งทางอากาศเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดน้อยราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องมีการรักษาคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินโลก ส่งผลให้แต่ละปีมีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ยังไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2567 ไทยมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทางอากาศรวม 141 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 มีเที่ยวบินรวม 886,438 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2566 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22% ทั้งนี้ การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ การยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และแรงผลักจากตลาด e-Commerce
ข่าวต่างประเทศ
4. กำไรอุตสาหกรรมจีนใน Q1/2568 โต 0.8% ท่ามกลางความกังวลด้านภาษี (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า กำไรของอุตสาหกรรมจีนเติบโตขึ้น 0.8% สู่ระดับ 1.5 ล้านล้านหยวนในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบรายปี พลิกกลับจากการลดลง 0.3% ในสองเดือนแรก โดยในเดือนมีนาคม 2568 เพียงเดือนเดียวกำไรของอุตสาหกรรมจีน เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ จีนรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าคาดในไตรมาส 1/2568 จากการที่รัฐบาลกระตุ้นการบริโภคและส่งเสริม แต่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทต่างๆ และรายได้ของพนักงาน ขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามหาทางรับมือกับภาวะการค้าที่หยุดชะงักที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมจีนยังมีแนวโน้มที่จะเชิญแรงกดดันท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เนื่องจากภาษีที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบกับการส่งออก ตลอดจนการที่ยังไม่มีการเวลาที่ชัดเจนในการหารือทวิภาคีระหว่างสองชาติ ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างรอคอยมาตรการกระตุ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของจีน
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้สนับสนุนให้บรรดาผู้ส่งออกมองหาตลาดทางเลือกแทนสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสินค้าจีนในอัตรา 145% ซึ่งโรงงานหลายแห่งที่เน้นการส่งออกกลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอ สงครามราคา กำไรที่ต่ำ และการชำระเงินที่ล่าช้าในตลาดจีน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)