ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤษภาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. อุตฯ จับมือนครหนานหนิง ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมหารือกับนายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิงสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน และจีนถือเป็นคู่ค้า อันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกันด้วย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2566 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันรถไฟฟ้าจากจีนสามารถทำตลาดที่ไทยได้อย่างต่อเนื่องและมีท่าทีที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่เพิ่มขึ้นในงานมหกรรมยานยนต์ต่างๆ และในวันนี้ก็มีนักลงทุนจากจีนที่มาตั้งโรงงานผลิตในไทยร่วมด้วย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการได้หารือและแนะนำระหว่างกัน และอยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงฯ เกี่ยวกับการยื่นขอ ECO STICKER สำหรับรถไฟฟ้าด้วย โดยในอนาคตจะมีการลงทุนเกี่ยวกับโรงงานแบตเตอรี่ในไทยด้วย ซึ่งทางนครหนานหนิงได้ให้ความสนใจในเรื่องการนำเข้าทุเรียน ยางพารา และสมุนไพรจากไทยด้วย โดยจะหารือถึงแนวทางความร่วมมือกันในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน โดยความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งถือเป็นผลดีกับภาคอุตสาหกรรมไทย และอาจมีความร่วมมือใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต

 

A person in a pink dress

Description automatically generated

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. ผลผลิตอุตฯ ร่วงหนักผวาราคาดีเซลดันต้นทุนพุ่งอีก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังมีการขยายตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม รวมถึงการเร่งใช้งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลบวกให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ ปรับตัวดีขึ้น สำหรับ ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมีนาคม 2567 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังจากปัจจัยภายในประเทศหลังปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง ส่งสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองขณะนี้ คือ การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาทะลุมาอยู่ที่ 30.94 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลค่อนข้างสูง และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดีเซล คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีสัดส่วนใช้ดีเซล 7.93% ของต้นทุนการผลิตรวม การฟอกและ ย้อมผ้า 6.31% เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน 4.82% ปูนซีเมนต์ 4.43% ผลิตภัณฑ์โลหะ 4.01% แก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว 2.74% และเสื้อผ้าและสิ่งทอ 2.53% นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบค่าครองชีพของประชาชน และเกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงทำให้อัตราค่าไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นแม้จะมีการตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าใช้มากก็มีผลต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และท้ายสุดจะกระทบกับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอโชว์ลงทุนพุ่ง 2.28 แสนล้าน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ของบีโอไอ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขยายตัวของเอไอ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้น 130% มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white cloth

Description automatically generated

 

4. ญี่ปุ่น จับมือ อียู ร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ ลดการพึ่งพาจีน (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค, ประจำวันที่ 30 เมษายน 2567)

สำนักข่าว Kyodo เปิดเผยรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวรัฐบาลว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย มีกำหนดเจรจาทางเศรษฐกิจที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในส่วนของญี่ปุ่น จะส่งนางโยโกะ คามิกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายเคน ไซโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ในขณะที่ อียู คาดว่าจะมีผู้แทนคือ นายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานบริหารของคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมการหารือ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานสำหรับเซมิคอนดักเตอร์และวัสดุที่สำคัญอื่นๆ ท่ามกลางความพยายามลดการพึ่งพาบางประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น พยายามกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ เมื่อเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น สงครามของรัสเซียกับยูเครน และอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีน ผู้นำของญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศ 27 ชาติกำลังทำงานเพื่อออกแถลงการณ์ร่วมที่ส่งเสริมการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส ยืดหยุ่น และยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ จีนขยายบทบาทในตลาดโลกอย่างแข็งขันด้วยเซมิคอนดักเตอร์ราคาถูก ยานพาหนะไฟฟ้า และแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าจีนอาจกดดันประเทศอื่นๆ ด้วยมาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)