ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนตุลาคม 2567

ข่าวในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' หนุนเหมืองเก่า ปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ที่มา: แนวหน้า ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยาย 2567 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อุตสาหกรรม ที่ภูผาแรด ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในจังหวัดราชบุรี โดยหินเขางูเคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้กระทรวงฯ มีแผนที่จะให้พื้นที่หินเขางู เป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่ และชุมชนรอบข้าง โดยได้เชิญธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่ม ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ ดีพร้อม) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่างๆของหินเขางูให้มีความน่าสนใจ เพื่อช่วยดึงดูด นักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อน การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ส.อ.ท.ปลุกผู้ผลิตเตรียมพร้อม รับกม.จัดการบรรจุภัณฑ์ปี 70 (ที่มา:  มติชน, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมขับเคลื่อนแนวทางการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility: EPR ในงาน "PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand" เพื่อประกาศเจตจำนงผลักดันการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท.ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรึไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวว่า ได้ทดลองโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี นำร่องใน 3 เทศบาลประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และจะขยายไปอีก 9 เทศบาลในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บขนของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่นที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่

 

A person sitting at a desk with a microphone

Description automatically generated

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

3. กางแผนงานปั้นนักธุรกิจ เกษตรอุตฯจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2567)

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีความสำเร็จทางธุรกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว ควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน "เกษตรอุตสาหกรรม" จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีการนำองค์ความรู้ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การมาตรฐาน การเชื่อมโยงห่วงโซ่ การผลิตอย่างเป็นระบบ สู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ที่จะสามารถถ่ายทอดความสำเร็จให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างภูมิภาคได้ ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ด้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอุตสาหกรรม จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตและต่อยอดไปสู่  การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจให้สามารถปรับตัวธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ผลิตภัณฑ์ โดยใช้จุดเด่นหรือ อัตลักษณ์ของพื้นที่ มาสร้างสรรค์คุณค่าของสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการนำหลักการ ESG คือ "E" Environmental (สิ่งแวดล้อม) การคำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม, "S" Social (สังคม) การจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับสังคม และ "G" Governance (บรรษัทภิบาล) การบริหารจัดการ ความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจ ควบคู่กับการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม จึงได้ดำเนินโครงการ "ปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ (MIND STAR)" ปีงบประมาณ 2567 ขึ้น ให้กระจายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการตามภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 21 กิจการ ในกลุ่มธุรกิจเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร การเกษตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ผ่านการจัดหลักสูตรส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดธุรกิจผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยหลัก BOFER, Design Branding & Marketing TOOL การให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ด้าน และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ มา ต่อยอดการพัฒนาธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีความโดดเด่นของธุรกิจที่มีการกระจายรายได้ให้กับเครือข่ายในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะ ซึ่งมีความพร้อมในการแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทยในภาพรวม คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. PMI ชี้ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นซบเซาในเดือนก.ย. เหตุดีมานด์อ่อนแอ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567)

อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) เปิดเผยผลสำรวจซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 2567 ยังคงซบเซา โดยทั้งผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่หดตัว ซึ่งสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความต้องการจากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.7 ในเดือนกันยายน จาก 49.8 ในเดือนสิงหาคม แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลข PMI ขั้นต้นเล็กน้อยที่ 49.6 โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำผลสำรวจระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึง "แนวโน้มที่ซบเซาทั่วทั้งอุตสาหกรรมการผลิต" ซึ่งดัชนีย่อยด้านผลผลิตหดตัวเล็กน้อยในเดือนกันยายน เนื่องจากขาดธุรกิจใหม่เข้ามา ส่วนคำสั่งซื้อใหม่ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 โดยบริษัทต่างๆ ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซาการปรับสต๊อกสินค้า และการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ ยอดขายที่ซบเซาในสหรัฐฯ และจีนยังส่งผลให้ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)