ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุต ผนึก 'จังหวัดโทคุชิมะ' ลงนามความร่วมมือ ผลักดันเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นโตอย่างยั่งยืน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย "Save อุตสาหกรรมไทย" เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ทางด้าน น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง "ดีพร้อม" และ "จังหวัดโทคุชิมะ" ที่จัดขึ้นนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ ดีพร้อมได้มีความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในวันนี้ ได้นำผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัด ทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และเครื่องจักร หลายรายมาร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน
นายภาสกร ชัยรัตน์
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. หลากปัจจัยลบรุมเร้าฉุดดัชนี MPI ก.ย. ติดลบ 3.51% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2567)
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 ติดลบ 3.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.47% ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 ติดลบเฉลี่ย 1.23% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 ติดลบเฉลี่ย 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูงนอกจากนั้น ต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ส่วน การส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 2.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 7.05% ทั้งนี้ ทางด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น" โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน 3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนา เพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (New skill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอหนุน 'เม็กเท็ค' ลงทุน PCB เพิ่ม (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2567)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ อนุมัติบริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง เดินหน้าขยายลงทุนผลิต PCB ด้วยเงินลงทุน 920 ล้านบาท รองรับการเติบโตของความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรม PCB ไทยขึ้นแท่นอุตสาหกรรมมาแรง ผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของภูมิภาค ด้วยกระแสการย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ของโลก ได้ส่งผลให้ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จำนวนมาก ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันไทยได้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสมชาย อัศวรุ่งแสงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด FPCB ระดับโลกจากญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี โดยเม็กเท็คได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในหลายโครงการ โครงการส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าธุรกิจกลุ่ม PCB ในไทยจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น 4.7% ในต.ค. เติบโตติดต่อกัน 13 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันในเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่ง โดยข้อมูลของกระทรวงระบุว่ายอดส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.43 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาหลีใต้เกินดุลการค้า 1.62 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้า 17 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ พุ่งขึ้น 40.3% เป็น 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดเป็นสถิติใหม่สำหรับเดือนตุลาคมและเติบโตรายปีต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นอกจากนี้ การส่งออกคอมพิวเตอร์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยเพิ่มขึ้น 54.1% แตะที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ด้านการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น 5.5% อยู่ที่ 6.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดสำหรับเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า เมื่อจำแนกตามตลาดส่งออกพบว่า การส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้น 11% เป็น 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่แตะระดับ 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกันยายน 2565 ส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.4% แตะระดับ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดรายเดือนเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)