ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุตสาหกรรมถก 40 ห้างดัง หวังสกัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ามาตรการป้องกันการผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ภายใต้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับ SMEs โดยมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ต้องมีความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะสินค้าควบคุมทั้ง 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า 308 ผลิตภัณฑ์ ที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้า ห้างสรรพสินค้าห้าโมเดิร์นเทรด และร้านค้าออนไลน์ หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าควบคุมให้มากขึ้นทั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยล่าสุดได้เชิญผู้ประกอบการห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำของไทยกว่า 40 ราย ในฐานะผู้ให้บริการเช่าพื้นที่ และผู้จำหน่ายสินค้ารายใหญ่ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อรับทราบนโยบายการดำเนินงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการป้องกันการผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าควบคุม เช่น ปลั๊กพ่วง สายไฟฟ้า พาวเวอร์แบงก์ ของเล่น และหมวกกันน็อก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนนี้ ห้างโมเดิร์นเทรดหลายแห่ง ได้ออกแคมเปญ 11.11 เพื่อส่งเสริมการขายทั้งที่จำหน่ายหน้าร้านและในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ขอความร่วมมือให้ทุกท่านตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายด้วยว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากเป็นสินค้าควบคุม ต้องเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. และมี QR Code ที่สินค้าเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบรายละเอียดของสินค้า และข้อมูลของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งเป็นช่องทางในการร้องเรียน ในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ด้วย และในรอบปีที่ผ่านมาระหว่างเดือนกันยายน 2566 - เดือนกันยายน 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 517 ราย ยึดอายัดสินค้ารวมมูลค่ากว่า 395 ล้านบาท
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT
2. ส่งออกทองคำขายเก็งกำไร อานิสงส์เฟดลดดอกเบี้ย-กองทุนเข้าซื้อ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567)
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 1,275.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.81% กลับมาติดลบอีกครั้ง และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,016.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.54% ยอดรวม 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม-กันยายน) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,053.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.15% หากรวมทองคำ มูลค่า 12,448.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.85% สำหรับการส่งออกทองคำเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.99% เนื่องจากราคาทองคำในเดือนกันยายนยังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,663.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ยอดรวม 9 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 5,394.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 20.29% สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 7.30% สหรัฐฯ เพิ่ม 14.79% อินเดีย เพิ่ม 38.53% เยอรมนี เพิ่ม 12.70% อิตาลี เพิ่ม 3.59% เบลเยียม เพิ่ม 33.51% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 7.16% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.72% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 9.21% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 10.89%
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อประเทศคู่ค้าสำคัญปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯขณะที่สหภาพยุโรป เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และปลายปียังเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้มีการซื้อของขวัญให้แก่ตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้นโดยช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นที่นิยมมากสุด ตามด้วยห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับคอลเลคชั่นให้ตรงตามความต้องการ สวมใส่ได้หลายโอกาส และสร้างเรื่องราวสินค้าให้โดนใจผู้บริโภค รวมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มาช่วยวิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ผู้บริโภค และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม ก็จะทำให้ขายสินค้าได้ แม้โลกจะผันผวน
นายนาวา จันทนสุรคน
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดีขึ้น ส.อ.ท.แนะรัฐช่วย 4 เรื่องสำคัญ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.1 ในเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ส่งผลดียอดขายสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ขณะเดียวธนาคารพาณิชย์ ก็เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 ตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 28,378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1,325,359 ล้านบาท สำหรับภาคการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันตามอุปสงค์ในตลาดโลกและจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย และอาเซียน เป็นต้น โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง ทั้งนี้ ทางด้าน ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนกันยายน 2567 ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และโครงการลงทุนและการก่อสร้างต่างๆช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก การท่องเที่ยว มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และการเข้าสู่ฤดูหนาวในทวีปยุโรป ซึ่งยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงกังวล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐดังนี้ 1. เสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้เอสเอ็มอีอาทิ ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด โดยให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสดของบริษัทปีล่าสุดเป็นต้น 2. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 3. ออกมาตรการทางภาษีและการเงิน เพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และเร่งการจัดซื้อภาครัฐในหมวดพาหนะปี 2568 และ 4. เสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้า
ข่าวต่างประเทศ
4. เวียดนามตั้งเป้า GDP ปี 2568 โต 6.5-7% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567)
สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยรายงานว่า สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) หรือรัฐสภาของเวียดนาม ตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2568 ที่ระดับ 6.5-7% ขณะเดียวกันก็หวังผลักดันการขยายตัวให้ได้ 7-7.5% ทั้งนี้ ตามมติว่าด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2568 ที่ผ่านสภาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ยังได้มีการกำหนดเป้าหมาย GDP ต่อหัวไว้ที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาดว่า อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปจะมีสัดส่วนใน GDP ที่ประมาณ 24.1% ในปีหน้า และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นที่ราว 4.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจในปี 2567 นี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 6.8-7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐสภาที่ 6-6.5%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)