ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกณัฏ' สั่ง 'กรอ.' เข้มโรงน้ำแข็งสแกน 2,341 ราย สกัดแอมโมเนียรั่ว (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลจากระบบทำความเย็นบ่อยครั้ง ได้สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้การดำเนินกิจการโรงงานประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างปลอดภัย และปกป้องประชาชนโดยรอบจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หลังจากเกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลจากระบบทำความเย็นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของระบบทำความเย็นอย่างเคร่งครัด หากพบการละเลย หรือฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ตั้งแต่คำสั่งให้แก้ไขปรับปรุง การสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ไปจนถึงการสั่งปิดโรงงานถาวร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่ยั่งยืนและปกป้องสวัสดิภาพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการ โดยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ฉบับ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบทำความเย็นแอมโมเนีย ได้แก่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ การจัดทำและส่งรายงานข้อมูลการติดตั้งซ่อมแซมและดัดแปลง และยกเลิกการใช้งานระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 8 ธันวาคม 2567 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีโรงงานที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ 2 ฉบับนี้ จำนวน 2,341 โรง แบ่งเป็น โรงน้ำแข็ง 1,880 โรง โรงห้องเย็น 461 โรง
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. ปั้นสินค้าเกษตรอุตฯ สร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจชุมชน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการยกระดับเกษตรกรรมสู่เกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการนำระบบบริหารจัดการทางอุตสาหกรรมมาใช้ในการแปรรูป และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรพื้นฐานสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro -Industrial Community : OPOAI-C) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทย มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Unit) เป็นพลังตัวบวกและตัวคูณทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นภายในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปพัฒนาเกษตรกร จำนวน 723 กลุ่ม กว่า 2,434 ราย ผ่านกิจกรรมอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร เช่น การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด และการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดสร้างแผนธุรกิจ และจัดทำ ร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์กว่า 229 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ประเภทอาหาร 143 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 41 ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 22 ผลิตภัณฑ์ ของใช้/ของประดับ/ของที่ระลึก 22ผลิตภัณฑ์ ผ้า/เครื่องแต่งกาย 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 44 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชนกว่า 223 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะการยกระดับเกษตรกรสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเพื่อส่งต่อความสำเร็จทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและมิติทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่มองแค่ผลความสำเร็จในด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนร่วมในการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชน มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งใช้วัตถุดิบและอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในสินค้าและบริการ โดยบทบาทการส่งเสริมผู้ประกอบการคนตัวเล็ก พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอีเชื่อมโยงกับตลาดกว้างและห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม นับเป็นภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์
ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ยอดขาย-ผลิตรถยนต์วูบต่อ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2568)
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ยานยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า ยังไม่ดีขึ้นและมียอดผลิตลดลงต่อเนื่อง โดยการผลิตรถยนต์มี 115,487 คัน ลดลง 13.62% เนื่องจากการผลิตขายในประเทศลดลง 21.26% โดยเฉพาะรถกระบะที่ยังคงลดลง 42.10% ตามยอดขายรถกระบะที่ลดลง และผลิตส่งออกลดลง 9.48% โดยเฉพาะรถยนต์นั่งลดลงถึง 47.01% ตามยอดส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ของปีผลิตได้ 222,590 คัน ลดลง 19.29% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดผลิตของรถยนต์นั่งจำนวน 74,277 คัน เท่ากับ 33.37% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 27.85% ทั้งนี้ เป็นรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาป 32,349 คันลดลง 48.02 % รถยนต์นั่ง ประเภทไฟฟ้า 3,907 คัน เพิ่มขึ้น 174.95% รถยนต์นั่งไฮบริด 33,629 คัน ลดลง 12.31% ส่วนรถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ 146,621 คัน เท่ากับ 65.87% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 12.22% ซึ่งในขณะนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ต้องติดตามทั้งมาตรการช่วยเหลือรถกระบะในโครงการรถกระบะพี่ มีคลังค้ำ งานมอเตอร์โชว์ รวมทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์ของสหรัฐ วันที่ 2 เมษายน 2568 ว่าจะมีประเทศไหนบ้าง และบางประเทศ คู่ค้าลดคำสั่งซื้อเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐบางประเทศคู่ค้ามีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกเข้ามามีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น บางประเทศคู่ค้ามีกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจอห์นสัน จาง ผู้จัดการทั่วไป อวทาร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด กล่าวว่า ปีนี้อวทาร์ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 1,500 คัน โดยเป็นยอดจองจากปลายปีที่ผ่านมา 1,000 คัน ขณะนี้ได้มอบไปแล้ว 500 คัน ดังนั้นที่เหลืออีก 500 คัน จะขายในปีนี้เชื่อว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเตรียมขยายโชว์รูม 4 แห่ง และ อีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะเป็นหัวเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด สำหรับนโยบายธุรกิจของอวทาร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งโอเชียเนียปีนี้ ตั้งเป้าหมายขายไว้ที่ 3,000 คันโดย 50% เป็นยอดขายจากไทย ที่ผ่านมาในช่วง 1 ปี อวทาร์ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี และจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมที่สุด ทั้งในส่วนของการเป็นรถพรีเมียม สมรรถนะรวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ใส่ไว้ในรถอวทาร์ ขณะเดียวกันบริษัทจะไม่เข้าไปเล่นสงครามราคา หรือลดราคาลง แม้มีบางค่ายได้ปรับลดลงไป เนื่องจากว่ากลุ่มลูกค้าเป็นเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรถที่มีสมรรถนะและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างแท้จริง
ข่าวต่างประเทศ
4. จีนขยายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตครอบคลุมอุตฯ เหล็ก-ซีเมนต์-อะลูมิเนียม (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2568)
กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีน เปิดเผยว่า จีนมีแผนที่จะขยายตลาดในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และการถลุงอะลูมิเนียม ซึ่งจะทำให้บริษัทในจีนอีกกว่า 1,500 แห่ง ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตไว้เพื่อชดเชยในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดยปริมาณนั้นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ กลไกดังกล่าวจึงสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนลงนั่นเอง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน โครงการคาร์บอนเครดิตของจีนครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 5 พันล้านเมตริกตัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านไป๋ เสี่ยวเฟย โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน กล่าวว่า การขยายตลาดคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้จะทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ภายใต้โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านเมตริกตัน หรือมากกว่า 60% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของจีน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)