ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. . อุตฯ จี้คุมโลหะหนัก เข้มมาตรฐาน 'กระดาษสัมผัสอาหาร' (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการผลิตและนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยให้เป็นสินค้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามา และให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ได้สั่งการ สมอ. เร่งประกาศให้กระดาษสัมผัสอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ให้เป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 2 รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ อาจมีปริมาณโลหะหนักและสารเคมีเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า ในการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่ามาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562 เช่น จานกระดาษ ถ้วยกระดาษ และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มอก. 3438-2565 เช่น กระดาษรองอาหารที่ใช้ในหม้ออบลมร้อน หรือกระดาษอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสำคัญ ในการควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม และสารเคมีในกระบวนการผลิตที่เป็นอันตราย ได้แก่ สารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชั้นคุณภาพสัมผัสอาหาร (Food contact grade) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน จะต้องผ่านการทดสอบที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 175 องศาเซลเซียส โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568 นี้
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. สศอ. เล็งหั่นดัชนีเอ็มพีไอ จับตาสหรัฐตั้งกำแพงภาษี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 105.03 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.66% ส่งผลให้เอ็มพีไอไตรมาสแรก ปี 2568 อยู่ที่ระดับ 99.96 หดตัวจากปีก่อน 1.86% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคม อยู่ที่ 63.68% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เอ็มพีไอ ในเดือนมีนาคม หดตัวตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ซึ่ง สศอ. จะนำปัจจัยและข้อมูลต่างๆ รอบด้านมาประกอบการพิจารณาปรับลดประมาณการเอ็มพีไอ และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2568 ลงในเดือนพฤษภาคม 2568 นี้ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1.5-2.5% ทั้งนี้ การปรับลดลงดังกล่าวมาจากความกังวลต่อนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลของนโยบายการค้าของสหรัฐที่กดดันการค้าโลก และภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่ชะลอตัว รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของประเทศต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากไทยของสหรัฐ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ในอัตรา 25% จากเดิมเก็บเพียง 0-2.5% ที่ประเมินว่าชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยส่งออกชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่ในขอบข่ายของสินค้าที่จะขึ้นภาษี เช่น ยางล้อ เครื่องยนต์ เกียร์ ระบบส่งกำลัง และส่วนประกอบไฟฟ้า โดยต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะกระทบพิกัดภาษีใดบ้างเพื่อประเมินผลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถยนต์สำเร็จรูปได้ผลกระทบทางตรงน้อย เนื่องจากมีการส่งออกไปในปริมาณที่ต่ำและมูลค่าโดยรวมไม่สูง ขณะที่รถจักรยานยนต์สำเร็จรูปจะได้ผลกระทบ แต่ทุกประเทศได้รับผลกระทบในระดับที่ใกล้เคียงกันจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงแรก แต่จะได้รับผลกระทบเมื่อประเทศที่อยู่ภายใต้ความตกลงยูเอสเอ็มซีเอ หรือสหรัฐเริ่มผลิตรถจักรยานยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้าได้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. ลงทุนทะลัก 4.31 แสนล้าน ดิจิทัล-อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์มาแรง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2568)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในไทยในปี 2568 ยังเติบโตสูง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านจำนวนโครงการและเงินลงทุน ในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 822 โครงการ เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 431,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ได้แก่ ดิจิทัล 94,735 ล้านบาท (40 โครงการ) อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 87,814 ล้านบาท (122 โครงการ) ยานยนต์และชิ้นส่วน 23,499 ล้านบาท (72 โครงการ) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 17,517 ล้านบาท (102 โครงการ) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 13,942 ล้านบาท (81 โครงการ) เกษตรและแปรรูปอาหาร 12,719 ล้านบาท (61 โครงการ) การท่องเที่ยว 9,261 ล้านบาท (10 โครงการ) และการแพทย์ 8,034 ล้านบาท (25 โครงการ) สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 618 โครงการ เพิ่มขึ้น 43% เงินลงทุนรวม 267,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง 135,159 ล้านบาท จีน 47,308 ล้านบาท สิงคโปร์ 38,075 ล้านบาท ญี่ปุ่น 25,111 ล้านบาท ไต้หวัน 4,756 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 2,142 ล้านบาท มาเลเซีย 1,919 ล้านบาท ไอร์แลนด์ 1,628 ล้านบาท ฝรั่งเศส 1,531 ล้านบาท นอร์เวย์ 1,418 ล้านบาท ตามลำดับ ในด้านพื้นที่เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีมูลค่า 246,555 ล้านบาท จาก 444 โครงการ รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 152,525 ล้านบาท ภาคใต้ 17,256 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,551 ล้านบาท ภาคตะวันตก 3,980 ล้านบาท และภาคเหนือ 2,930 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart และ Sustainable Industry) ซึ่งเป็นการลงทุนปรับปรุงกิจการเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มี ผู้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก ปี 2568 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 82 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,548 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกิจการ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีจำนวน 776 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 582,225 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติเหล่านี้ คาดว่าจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.9 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด เกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 60,000 ตำแหน่ง และทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3.9 แสนล้านบาท/ปี ขณะที่การออกบัตร ส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดมีจำนวน 660 โครงการ เงินลงทุนรวม 236,778 ล้านบาท
ข่าวต่างประเทศ
4. กำไรอุตสาหกรรมจีนใน Q1/2568 โต 0.8% ท่ามกลางความกังวลด้านภาษี (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า กำไรของอุตสาหกรรมจีนเติบโตขึ้น 0.8% สู่ระดับ 1.5 ล้านล้านหยวนในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบรายปี พลิกกลับจากการลดลง 0.3% ในสองเดือนแรก โดยในเดือนมีนาคม 2568 เพียงเดือนเดียวกำไรของอุตสาหกรรมจีน เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ จีนรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าคาดในไตรมาส 1/2568 จากการที่รัฐบาลกระตุ้นการบริโภคและส่งเสริม แต่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทต่างๆ และรายได้ของพนักงาน ขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามหาทางรับมือกับภาวะการค้าที่หยุดชะงักที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมจีนยังมีแนวโน้มที่จะเชิญแรงกดดันท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เนื่องจากภาษีที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบกับการส่งออก ตลอดจนการที่ยังไม่มีการเวลาที่ชัดเจนในการหารือทวิภาคีระหว่างสองชาติ ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างรอคอยมาตรการกระตุ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของจีน
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้สนับสนุนให้บรรดาผู้ส่งออกมองหาตลาดทางเลือกแทนสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสินค้าจีนในอัตรา 145% ซึ่งโรงงานหลายแห่งที่เน้นการส่งออกกลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอ สงครามราคา กำไรที่ต่ำ และการชำระเงินที่ล่าช้าในตลาดจีน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)